รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 8 — 12 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 15, 2010 11:27 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือ 3.5 แสนคน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และเป็นการลดลงติดกันเป็นเดือนที่ 3
  • การจ้างงานรวมเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ 38.5 ล้านคนเพิ่มขึ้น 5.6 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 ต่อปีโดยเป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ม.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 70.4 และสูงสุดในรอบ 21 เดือน

Indicators next week

Indicators                       Forecast       Previous
Jan: TISI (level)                  110.0          113.6
  • เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศน่าจะปรับลดลงเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อจากยุโรปที่น่าจะปรับตัวลดลง หลังจากที่เศรษฐกิจยุโรปใต้เริ่มมีปัญหาด้านเสถียรภาพ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

Economic Indicators: This Week

อัตราการว่างงานเดือน ธ.ค.52 อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ของกำลังแรงงานรวม หรือ 3.5 แสนคน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 อันมีสาเหตุหลักจากการว่างงานในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการปรับตัวลดลง ส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาส 4 ปี 52 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 หรือ 3.8 แสนคนและส่งผลให้ทั้งปี 52 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.5 หรือ 5.7 แสนคน

การจ้างงานรวมเดือน ธ.ค. 52 อยู่ที่ 38.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.6 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาบริการ โดยเฉพาะค้าส่งค้าปลีก และก่อสร้างเป็นหลัก และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 1.7 หมื่นคนหรือร้อยละ 0.05 หากพิจารณาตามสาขาพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการจ้างงานสาขาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้ การผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ และการผลิตเครื่องแต่งกาย ขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรกรรมและภาคปริการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ การจ้างงานรวมไตรมาส 4 ปี 52 อยู่ที่ 38.2 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปีและส่งผลให้การจ้างงานรวมทั้งปี 52 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ต่อปีชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดสำคัญ เช่น พืชอาหาร โดยเฉพาะข้าวนาปี และมันสำปะหลัง ที่อยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด(เพลี้ยน้ำตาลกระโดดในข้าว และเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง) ในขณะที่หมวดไม้ยืนต้น ผลผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้น จากผลผลิตยางพาราเป็นสำคัญ เนื่องจากราคาขยายตัวในระดับสูง จูงใจให้เกษตรกรกรีดยางเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดปศุสัตว์ ผลผลิตหดตัวลงเล็กน้อยจากผลผลิตไก่เนื้อ ในขณะที่ผลผลิตสุกรและไข่ไก่ขยายตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.8 ต่อปีจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.7 ต่อปี (เป็นการขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน) จากการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ข้าว ยางพาราอ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก ปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตในประเทศและของโลกลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในบางประเทศ ในขณะที่ไทยมีผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาด

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนม .ค. 53 อยู่ที่ระดับ 71.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 70.4 และสูงสุดในรอบ 21เดือน โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) เศรษฐกิจไทยเริ่มสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากการที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 1.25 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ 2) ความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น การที่ครม .มีมติต่ออายุ 5 มาตรการ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนและการอนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ได้แก่ 1)สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และ 2) ปัญหาโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ถูกคำสั่งศาลให้ระงับชั่วคราว

Economic Indicators: Next Week

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในเดือน ม.ค. 53 คาดว่าจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ระดับ 110.0 จากระดับ 113.6 ในเดือน ธ.ค.52เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อทั้งจากในประเทศและต่างประเทศน่าจะปรับลดลงเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวสูงขึ้นมากในเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อจากยุโรปที่น่าจะปรับตัวลดลง หลังจากที่เศรษฐกิจยุโรปใต้เริ่มมีปัญหาด้านเสถียรภาพ ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ