ความเสี่ยงของการเงินโลก: ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 16, 2010 13:48 —กระทรวงการคลัง

บทสรุป

บทความนี้วิเคราะห์ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ (Sovereign debt crisis ที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลหยุดชำระหนี้) ของโลก และที่กำลังเป็นปัญหาในยุโรปโดยเฉพาะในกรีซ ไอร์แลนด์ สเปนและโปรตุเกส วิเคราะห์ความเสี่ยงของปัญหาต่อโลกการเงิน อะไรที่ควรกังวล รวมถึงความเสี่ยงของประเทศไทย ซึ่งพบว่า 1.วิกฤตหนี้สาธารณะของโลกเกิดรุนแรงในช่วง 1981 — 1985 ที่เกิดการหยุดชำระหนี้ใน 32 ประเทศในช่วง 5 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และมีผลกระทบอย่างรุนแรง อาทิ กรณีของเม็กซิโกที่เกิดวิกฤตค่าเงินตามมา เศรษฐกิจหดตัวและเงินเฟ้อสูงถึงร้อยละ 101.8 รายได้ต่อประชากรลดลงต่อเนื่องและต้องใช้เวลาถึง 13 ปี จึงมีรายได้สูงเท่ากับปีก่อนวิกฤต 2.แรงกดดันต่อปัญหาหนี้สาธารณะในโลกมีสูง โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว 3.ปัญหาสำคัญต่อการเงินโลกในขณะนี้ คือการลดลงของความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศที่มีหนี้และขาดดุลงบประมาณสูง ซึ่งกระทบทั้งโลกในเรื่องต้นทุนทางการเงินและดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ราคาหลักทรัพย์ ตลอดจนความเสี่ยงต่อฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก 4.ไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงในระดับต่ำความเสี่ยงในเอเชียโดยตรงมีน้อยมาก ปัญหาหนี้ที่สำคัญมาจากประเทศพัฒนาแล้วนอกภูมิภาคเอเชีย 5.ปัญหาหนี้ของโลกครั้งนี้เป็นปัญหายืดเยื้อ สร้างความเสี่ยงต่อโลกไปหลายปีโดยปีหน้าความรุนแรงจะมากขึ้น จากปัญหาขาดดุลงบประมาณและหนี้ที่คงอยู่ ประกอบกับแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยปลายปีนี้ อย่างไรก็ตาม โอกาสเกิดวิกฤตรุนแรง เป็นวงกว้างมีน้อยมาก เนื่องจากประเทศที่มีปัญหาหนี้ครั้งนี้อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แตกต่างจากในอดีตที่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา ยังไม่เคยมีรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วหยุดการชำระหนี้ในรอบ 30 ปี แม้กระทั่งประเทศไทยที่มีวิกฤตการเงินช่วงปี 1997-1998 รัฐบาลก็ไม่หยุดชำระหนี้นอกจากนี้ยังมีกลไกการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหา อาทิ ความร่วมมือของกลุ่มสหภาพยุโรป และกลไกของ IMF

ความเสี่ยงของการเงินโลก: ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ

(Risks of Global Finance: Sovereign Debt Crisis)

ปี 2008 และ 2009 โลกเศรษฐกิจการเงินเต็มไปด้วยความผันผวน ทั้งเกิดวิกฤต subprime ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ต่อเนื่องมาเป็นวิกฤตในสถาบันการเงิน จนถึงวิกฤตเศรษฐกิจโลก ซึ่งประเมินว่าวิกฤตการเงินโลก (Global Financial Crisis) ครั้งนี้ รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ (The Great Depression)2 ในปี 1929

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ได้เริ่มฟื้นตัวขึ้นมากจากปี 2008 - 2009 แต่เศรษฐกิจการเงินโลกอยู่บนความเสี่ยงของวิกฤตทางการเงินต่าง ๆ อาทิวิกฤตปัญหาหนี้สาธารณะ วิกฤตค่าเงิน วิกฤตฟองสบู่ในราคาหุ้นและอสังหาริมทรัพย์สิน และวิกฤตสถาบันการเงิน ซึ่งความเสี่ยงมีอยู่จริง แต่ความเสี่ยงของวิกฤตต่าง ๆ อยู่ระดับไหนและอะไรที่ควรกังวล ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 คณะกรรมการสหภาพยุโรป (European Commission) ได้ออกมาให้ข่าวหลังจากได้มีการประชุมเป็นวาระพิเศษเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ว่ากลุ่มประเทศยุโรปจะช่วยแก้ปัญหาประเทศกรีซ หลังจากความกังวลของปัญหาหนี้สาธารณะและการขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะกรณีกรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ของกลุ่มสหภาพยุโรป กดดันดัชนีหลักทรัพย์และตลาดการเงินโลกอย่างมาก ตลอดช่วงเดือนมกราคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้

ในบทความนี้ ผมวิเคราะห์ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะ (Sovereign debt crisis) ความเสี่ยงของวิกฤต อะไรที่ควรกังวล รวมถึงความเสี่ยงของประเทศไทย สำหรับข้อเท็จจริงที่สำคัญและความเสี่ยงของวิกฤตหนี้สาธารณะมีดังนี้

1. วิกฤตหนี้สาธารณะของโลกเกิดรุนแรงในช่วง 1981 — 1985

วิกฤตหนี้สาธารณะเกิดไม่บ่อยครั้งนัก จากข้อมูลของ IMF3 ชี้ว่าตั้งแต่ปี 1981 — 2007 มีการเกิดวิกฤตค่าเงินเกิดขึ้นในโลก 54 ครั้ง (ในขณะที่วิกฤตค่าเงินเกิดขึ้น 181 ครั้งในช่วงเวลาเดียวกัน) แต่ส่วนใหญ่หรือกว่าครึ่งหนึ่ง เกิดในช่วง 1981 — 1985 ที่เกิดสูงถึง 32 ครั้ง และวิกฤตหนี้สาธารณะของโลกมีความถี่ลดลงมากในช่วง 1986 — 2007 ที่มีจำนวน 22 ครั้ง

วิกฤตหนี้สาธารณะของโลกในช่วงปี 1981 — 1985 มีที่มาสำคัญคือปัญหาหนี้ของกลุ่มประเทศละตินอเมริกาที่เรียกว่า Latin American Debt Crisis of the 80s

วิกฤตปรากฏชัดเมื่อเดือนสิงหาคม 1982 ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง Jesus Silva-Herzog ประกาศว่าเม็กซิโกไม่สามารถชำระหนี้ได้ และหลังจากนั้นไม่นานอาร์เจนตินา เวเนซูเอลา เอกวาดอร์ ปารากวัยโดมินิกัน บราซิลและอีกหลายประเทศละตินอเมริกาก็ประกาศไม่ชำระหนี้

วิกฤตครั้งประวัติศาสตร์นี้มีสาเหตุจากหลายปัจจัยทั้ง 1) ปัจจัยผู้ให้กู้ที่ส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของสหรัฐและยุโรป ที่มีเงินฝากจำนวนมากจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (Petro dollar) มีการประเมินความเสี่ยงของการให้ยืมเงินกับรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต่ำเกินไป และได้เร่งปล่อยเงินกู้จาก 75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 1975 เป็น 315 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 1983 2) ปัจจัยของผู้กู้ ที่มีการกู้สูงเกินความสามารถในการชำระ ใช้เงินกู้อย่างไม่เหมาะสมที่มีการประเมินว่ามีการใช้เพื่อการประชานิยม การซื้ออาวุธและคอรัปชันจำนวนมาก ตลอดจน 3) ปัจจัยสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่เกิดปัญหาราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นถึง 32.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปี 1981 ก่อนเกิดวิกฤต จากที่ราคา 2.7 และ 13.0 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปี 1973 และ1978 ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น และดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนในที่สุดเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤต

ผลกระทบครั้งนี้เป็นไปอย่างรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโก ที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหดตัวในปี 1982 — 1983 และขยายตัวในระดับต่ำหรือหดตัวอยู่เกือบ 10 ปี รายได้ต่อประชากรในรูปเงินเปโซ (real value) ลดลงต่อเนื่องและต้องใช้เวลาถึง 13 ปี คือปี 1994 จึงมีรายได้ต่อประชากรสูงเท่ากับปี 1981 (หรือใช้เวลา 10 ปี คือถึงปี 1992 ที่มีรายได้ต่อประชากรในรูปดอลลาร์สหรัฐ จึงกลับมาสูงเท่ากับรายได้ในปี 1981 ที่ 3,817 ดอลลาร์สหรัฐ)สำหรับเงินเฟ้อสูงเพิ่มขึ้นอย่างมากที่ร้อยละ 101.8 ในปี 1983 และสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อปีต่อเนื่องจนถึงปี 1991 ก่อนลดลงเหลือร้อยละ 15 ในปี 1992

2. แรงกดดันต่อปัญหาหนี้สาธารณะในโลกมีสูง โดยเฉพาะในประเทศยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

แรงกดดันต่อปัญหาหนี้สาธารณะของโลกมีอยู่สูง โดยสาเหตุสำคัญมาจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกปี 2008 - 2009 ทำให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อช่วยสถาบันการเงิน รวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาปัญหาทางสังคมต่างๆ จนทำให้หนี้สาธารณะของสหรัฐญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรปสูงเป็นประวัติการณ์และมีแนวโน้มสูงต่อเนื่องอีกหลายปี

IMF และ European Commission4 ประมาณการว่าประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป สหรัฐและญี่ปุ่น มีการเพิ่มขึ้นมากของหนี้สาธารณะในปี 2014 เมื่อเทียบกับปี 2009 (ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้สาธารณะสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2009 อยู่แล้ว) โดยเฉพาะในกลุ่มที่พัฒนามากกว่า (Advanced countries) อาทิ ญี่ปุ่น สหรัฐ อิตาลี ฝรั่งเศส มีการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้ที่สูง (เฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 20) ในขณะที่ประเทศเกิดใหม่ (Emerging countries) อาทิ อินเดีย อินโดนีเซียและเม็กซิโก ในปี 2014 มีระดับหนี้สาธารณะลดลงจากปี 2009

3. ผลกระทบต่อการเงินโลก

สำหรับปัญหาสำคัญต่อการเงินโลกในขณะนี้คือการลดลงของความน่าเชื่อถือของรัฐบาลประเทศที่มีหนี้สูง โดยเฉพาะประเทศกรีซไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน และกำลังส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศอื่น ๆ ทั้งโลก ผลกระทบที่สำคัญสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

1) ดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงิน ที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อชดเชยกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของนักลงทุน ต้นทุนของไอร์แลนด์ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 แล้ว เฉพาะระยะเวลา 5 สัปดาห์แรกของปี 2010 และขณะนี้ต้นทุนทางการเงินของแทบทุกประเทศในโลกได้เพิ่มขึ้น (ค่าประกันความเสี่ยงของการหยุดชำระหนี้ของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี Sovereign CDS 5 year อัตราเพิ่มขึ้นไอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปนร้อยละ 3.0 1.2 และ 0.6 และกระทบทั้งโลกรวมทั้งสหรัฐอเมริกาและไทยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 และ 0.3 ตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว)

2) อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินยูโรได้อ่อนค่าร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในระยะเวลา 5 สัปดาห์ของปี 2010

3) ราคาหลักทรัพย์ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นจึงทำการลดการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการให้กู้ยืม การลงทุนในหลักทรัพย์ ส่งผลให้ดัชนีหลักทรัพย์ลดลง

4) การลงทุน การบริโภค การจ้างงาน และฟื้นตัวของเศรษฐกิจการเพิ่มขึ้นของต้นทุนทางการเงินและความเสี่ยงของประเทศที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุน มีการไหลออกของการลงทุน ขาดความเชื่อมั่น และอาจกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้

ความรุนแรงของปัญหาหนี้สาธารณะในครั้งนี้ ?

ในสถานการณ์ปัจจุบันผมเห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวล อาจมีการหยุดชำระหนี้(debt default) ของบางประเทศ แต่ไม่เป็นปัญหาโดมิโนที่มีการหยุดชำระหนี้หลายประเทศ และเป็นวิกฤตในวงกว้างในช่วงนี้ โดยมีประเด็นและเหตุผลดังนี้

1) ประเทศในยุโรป สหรัฐและญี่ปุ่น ที่มีหนี้สูง มีศักยภาพในการชำระหนี้สูงหากพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือล่าสุดของ Standard and Poor’s5 โดยใช้ Sovereign Foreign Currency Ratings (Short term) ที่สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้สกุลเงินต่างประเทศของประเทศนั้น ๆ พบว่าประเทศในยุโรปยังมีระดับความน่าเชื่อถือที่ดี รวมทั้งกรีซ ที่มีระดับความน่าเชื่อถือที่ A-2 เท่ากับประเทศไทย และสูงกว่าของประเทศอื่น ๆ ในโลกอีกมาก

2) ศักยภาพของกลุ่มประเทศยุโรปที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะสามารถร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะได้ อาทิ ประเทศที่น่าห่วงคือกรีซ และไอร์แลนด์ทั้ง 2 ประเทศเป็นประเทศพัฒนาแล้วมีรายได้ต่อประชากรที่ 30,305 และ 51,128 ดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ แต่มีขนาดเศรษฐกิจเล็กมากคือร้อยละ 2.6 และ 1.9 ของกลุ่มสหภาพยุโรป หรือร้อยละ 9 และร้อยละ 7 ของประเทศเยอรมัน1 นอกจากนี้ยังมีกลไกการช่วยเหลือของ IMF ที่มีทรัพยากรตลอดจนประสบการณ์ในการแก้ปัญหาหนี้

3) การหยุดชำระหนี้อาจมี แต่เป็นประเทศกำลังพัฒนา สำหรับปี 2010 นี้โอกาสเกิดการหยุดชำระหนี้ต่ำมาก และจะไม่ใช้ประเทศกรีซ ไอร์แลนด์ สเปน หรือโปรตุเกส ที่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วของยุโรป แต่ความเสี่ยงมีมากกว่าในประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่นอกยุโรป

ผมประเมินว่าโอกาสต่ำมาก ที่จะเกิดปัญหาโดมิโน ที่ต้องกังวลคือความเสี่ยงของปัญหาหนี้สาธารณะจะยังมีอยู่กับโลกไปอีกหลายปี สร้างความผันผวนต่อตลาด การเงินโลกเป็นระยะ การที่ประเมินว่าปัญหาไม่รุนแรงถึงกับสร้างปัญหาการหยุดชำระหนี้ในวงกว้าง หรือวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งใหม่ ในลักษณะโดมิโน เนื่องจากขณะนี้ป็นปัญหาในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีศักยภาพสูงในการรองรับปัญหา ตลอดจนมีกลไกที่ดีแก้ปัญหาของกลุ่ม อย่างไรก็ตามปัญหาอาจเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศจึงประเมินว่ามีผลกระทบจำกัด

4. ไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียมีความเสี่ยงในระดับต่ำ

จากการประมาณการของ IMF ชี้ว่าประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียส่วนใหญ่ทั้งอินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี จีนและสิงคโปร์ มีหนี้ลดลงหรือเท่าเดิมในปี 2014 เมื่อเทียบกับปี 2009 มีเพียงประเทศญี่ปุ่นที่มีระดับหนี้เพิ่มสูงขึ้นมาก

สำหรับประเทศไทยระดับหนี้สาธารณะ/GDP เพิ่มขึ้นเป็น 55.9 ในปี 2014 แต่ก็ยังต่ำกว่าร้อยละ 60 ที่เป็นระดับที่ใช้ในกลุ่มสหภาพยุโรป

นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลของ Standard and Poor’s โดยใช้ Sovereign Foreign Currency Ratings (Short term) พบว่า ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่รวมทั้งไทยยังมีระดับความน่าเชื่อถือที่ดี ยกเว้นประเทศอินโดนีเซียเวียดนาม และฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตามประเทศเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาจากระดับหนี้สาธารณะที่สูง โดยอินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์6 มีหนี้สาธารณะ/GDP 31.5 52.3 และ 62.3 ตามลำดับในปี 2009

5. มองอนาคต

ในช่วงที่ผ่านมาปัญหาหนี้สาธารณะได้สร้างปัญหาให้กับโลกหลายเรื่องตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงและต้นทุนทางการเงินของโลก การกดดันราคาหุ้นให้ลดลงมากแทบทั้งโลก และการอ่อนค่าของเงินยูโรอย่างรวดเร็ว ปัญหานี้ดูเหมือนจะคลี่คลายไปมาก จากการที่กลุ่มประเทศยุโรปได้ประกาศช่วยเหลือกรีซเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ แต่ปัญหายุติแล้วหรือ? ผมวิเคราะห์ปัญหาหนี้สาธารณะระยะต่อไปดังนี้

1) ปัญหาหนี้สาธารณะเป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาปัญหาหนี้เป็นปัญหาระยะยาว สร้างความเสี่ยงต่อการเงินโลกต่อเนื่อง ข้อมูลของ IMF ชี้ว่าปี 2014 หรืออีก 5 ปีข้างหน้าระดับหนี้สาธารณะจะสูงขึ้นกว่าปีนี้อีกมาก เฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในกลุ่ม G-20 เฉลี่ยมีหนี้สาธารณะ/ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 20

2) ความเสี่ยงมากขึ้นในปี 2011 หรือปีหน้า เมื่อเทียบกับปี 2010 จากระดับหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจากปี 2010 และการขาดดุลงบประมาณที่ สูงในปี 2010 (อาทิ ไอร์แลนด์ สหรัฐ สเปน และญี่ปุ่น มีการขาดดุลงบประมาณเมื่อเทียบกับ GDP ที่ร้อยละ 14.7 13.0 10.1 และ 8.9 ตามลำดับ กลายเป็นหนี้ใหม่สำหรับปี 2010 และ 2011) ตลอดจนแนวโน้มการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของโลกปลายปี 2010 ทำให้ปัญหาหนี้รุนแรงขึ้น ส่งผลให้ระดับความเสี่ยงของโลกสูงขึ้น โอกาสการปรับลดระดับความน่าเชื่อถือมีมากขึ้นในหลายประเทศสร้างความผันผวนต่ออัตราดอกเบี้ย ค่าเงิน ราคาหลักทรัพย์ รวมทั้งเศรษฐกิจโลก

3) ปัญหาใหญ่ หากมีการขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงปีหน้ามากกว่าที่คาดมาก ย่อมสร้างภาระต่อลูกหนี้ทั้งหลาย (ปี 2011 รัฐบาลในหลายประเทศ ยังมีแนวโน้มขาดดุลงบประมาณในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2010) โดยเฉพาะรัฐบาลต่าง ๆ ที่มีระดับหนี้สูงมากเป็นประวัติการณ์ มีปัญหาเพิ่มขึ้นมากจากทั้งภาระดอกเบี้ย ปัญหาการกู้ทดแทนหนี้เก่าที่ครบกำหนด (roll-over) และการกู้ใหม่เพิ่มเติมชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และหากมีปัญหาเศรษฐกิจซ้ำเติม จนประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศไม่สามารถชำระหนี้ได้ เกิดการลดอันดับเครดิตอย่างเป็นระบบ ปัญหาใหญ่จากความผันผวนหรืออาจถึงวิกฤตการเงินโลกย่อมมีโอกาสสูงขึ้น

โดยสรุป ปัญหาหนี้สาธารณะของโลกนั้น ผมเห็นว่าเป็นปัญหายืดเยื้อที่สร้างความเสี่ยงต่อโลกไปอีกหลายปี โดยปีหน้าความรุนแรงจะมากขึ้น อย่างไรก็ตามโอกาสเกิดวิกฤตรุนแรง เป็นวงกว้างมีน้อยมาก เนื่องจากประเทศที่มีปัญหาหนี้ครั้งนี้อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว แตกต่างจากในอดีตที่เป็นปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งยังไม่เคยมีรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วหยุดการชำระหนี้ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา แม้กระทั่งประเทศไทยที่มีวิกฤตการเงินช่วงปี 1997-1998 รัฐบาลก็ไม่เคยคิดประกาศหยุดชำระหนี้ นอกจากนี้กลไกการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหายังมีอีกมากทั้งความร่วมมือของกลุ่มสหภาพยุโรป และกลไกของ IMF เป็นต้น

สำหรับความเสี่ยงในเอเชียโดยตรงมีน้อยมาก ปัญหาหนี้ที่สำคัญมาจากประเทศพัฒนาแล้วนอกภูมิภาคเอเชีย

สำหรับประเทศไทยถึงแม้มีระดับหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นจากปัญหาวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 แต่ก็ยังห่างไกลจากความน่าเป็นห่วง ระดับการจัดอันดับความน่าเชื่อ (credit rating) อยู่ในระดับที่ดี อย่างไรก็ตามประเทศไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาหนี้ที่มาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ความผันผวนของตลาดเงินตลาดทุน การแข็งค่าหรืออ่อนค่าของสกุลเงินสำคัญอย่างรวดเร็ว การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการกู้ยืม ตลอดจนการรองรับสถานการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในต่างประเทศ จากความเสี่ยงของโลกที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปลายปีนี้ แผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินทางเศรษฐกิจ ที่มีของกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาปรับปรุง และหากเกิดปัญหาขึ้น อาทิ ในกรีซ ต้องมีข้อมูลพร้อมเสนอต่อสาธารณชนอย่างทันเวลา เพื่อสร้างความมั่นใจว่า เศรษฐกิจของไทย แตกต่างจากกรีซ ไทยมีหนี้สาธารณะต่ำโดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศต่ำมาก มีการเชื่อมโยงทางการค้า การเงินกับกรีซต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้นโยบายการคลังโดยเฉพาะการบริหารหนี้สาธารณะ อาจต้องพิจารณาเพิ่มน้ำหนักของการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยโลกช่วงปลายปีนี้ ตลอดจนการจัดการหนี้ที่มีแนวโน้มยากขึ้นในปีหน้า อาจมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้มีอายุเฉลี่ยยาวขึ้น

โดย เวทางค์ พ่วงทรัพย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ