ฐานะการคลังของรัฐบาลในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 18, 2010 10:03 —กระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังเผย ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2553 ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้ได้เกินเป้า ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังหนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง และฐานะเงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่มั่นคง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ว่ารัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 24.2 โดยเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ ส่งผลให้จัดเก็บภาษีที่สำคัญ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน รถยนต์ ยาสูบ เบียร์ และอากรขาเข้า ได้เพิ่มขึ้นมาก โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณ 137,218 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 82,468 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดดุลเงินสดรวม 219,686 ล้านบาท และรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 90,572 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดทั้งสิ้น 129,114 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมกราคม 2553 มีจำนวนทั้งสิ้น 164,721 ล้านบาท

นายสาธิตสรุปว่า “ผลการจัดเก็บรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าเป็นหลัก สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ในขณะที่รัฐบาลจะสนับสนุนการฟื้นตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องด้วยการเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจต่อไป”

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วง 4 เดือนแรกปีงบประมาณ 2553

(ตุลาคม 2552 — มกราคม 2553)

หน่วย: ล้านบาท

                                      4 เดือนแรก                           เปรียบเทียบ
                                   ปีงบประมาณ 2553     ปีงบประมาณ 2552        จำนวน       ร้อยละ
1. รายได้                               463,965            373,680          90,285        24.2
2. รายจ่าย                              601,183            596,757           4,426        0.7
3. ดุลเงินงบประมาณ                      -137,218           -223,077          85,859       -38.5
4. ดุลเงินนอกงบประมาณ                    -82,468            -27,985          -54,483      194.7
5. ดุลเงินสดก่อนกู้ (3+4)                  -219,686           -251,062          31,376       -12.5
6. เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล                90,572             59,000           31,572        53.5
7. ดุลเงินสดหลังกู้ (5+6)                  -129,114           -192,062          62,948       -32.8

ที่มา: กรมบัญชีกลาง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก www.fpo.go.th สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 0 2273 9020 ต่อ 3558

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 19/2553 17 กุมภาพันธ์ 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ