นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามผลการช่วยเหลือลูกหนี้นอกระบบ ล่าสุดหลังจากปิดรับลงทะเบียนสิ้นเดือน มกราคม 2553 ซึ่งจากการคัดแยกลูกหนี้ของกรมบัญชีกลาง พบว่ามีลูกหนี้ 1,195,481 ราย มูลหนี้รวม 122,859 ล้านบาท โดยเฉลี่ยรายละ 103,000 บาท
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ เปิดเผยว่า จากการติดตามผลการคัดแยกลูกหนี้นอกระบบให้แก่ธนาคารต่างๆ ซึ่งปิดรับลงทะเบียนแล้วตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2553 ธนาคารที่รับผิดชอบได้ทยอยส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางแล้ว จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวนผู้เข้าโครงการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียนจำนวน 1,195,481 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 122,859,308,158.76 บาท อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 84,653 ราย มูลหนี้ 7,526.97 ล้านบาท และทางภูมิภาค จำนวน 1,110,828 ราย มูลหนี้ 115,332.33 ล้านบาท โดยเฉลี่ยรายละ 103,000 บาท จากการลงทะเบียนไว้ที่ ธนาคารออมสิน จำนวน 621,649 ราย และที่ ธ.ก.ส. จำนวน 573,832 ราย โดยจังหวัดที่มีการลงทะเบียนสูงสุด 5 ลำดับรองจากกรุงเทพมหานคร คือ
สุรินทร์ จำนวน 65,415 ราย มูลหนี้จำนวน 6,720.06 ล้านบาท ศรีสะเกษ จำนวน 60,850 ราย มูลหนี้จำนวน 6,105.11 ล้านบาท บุรีรัมย์ จำนวน 59,910 ราย มูลหนี้จำนวน 5,755.72 ล้านบาท นครราชสีมา จำนวน 58,148 ราย มูลหนี้จำนวน 6,236.64 ล้านบาท อุบลราชธานี จำนวน 46,990 ราย มูลหนี้จำนวน 4,730.19 ล้านบาท โดยเฉลี่ยรายละ 90,000 — 103,000 บาท และจังหวัดที่ลงทะเบียนน้อยสุด 5 ลำดับ ได้แก่ สมุทรสงคราม จำนวน 1,924 ราย มูลหนี้จำนวน 194.65 ล้านบาท ตราด จำนวน 2,173 ราย มูลหนี้จำนวน 230.63 ล้านบาท ระนอง จำนวน 2,475 ราย มูลหนี้จำนวน 247.55 ล้านบาท แม่ฮ่องสอน จำนวน 2,900 ราย มูลหนี้จำนวน 303.90 ล้านบาท สิงห์บุรี จำนวน 3,089 ราย มูลหนี้จำนวน 316.79 ล้านบาท
ซึ่งขณะนี้ได้คัดแยกรายชื่อผู้ลงทะเบียนไปตามธนาคารต่าง ๆ ในรอบแรกแล้ว ซึ่งสามารถสรุปจำนวนลูกหนี้นอกระบบในแต่ละธนาคารได้ดังนี้
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีจำนวน 504,779 ราย
ธนาคารออมสิน มีจำนวน 331,638 ราย ธนาคารกรุงไทย มีจำนวน 48,992 ราย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีจำนวน 28,115 ราย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มีจำนวน 28,341 ราย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีจำนวน 14,471 ราย
โดยลูกหนี้สามารถนำบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่มีเลขประจำตัว 13 หลักและมีรูปถ่าย ไปตรวจสอบข้อมูลว่าต้องไปติดต่อที่ธนาคารใด สาขาหรือจังหวัดใด ได้ที่สำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ และที่กรมบัญชีกลาง ด้วยตนเอง
นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประชุมหารือเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติระหว่างกรมบัญชีกลางกับธนาคาร 6 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ซึ่งธนาคารต่าง ๆ ได้ส่งข้อมูลให้กับสาขาของธนาคารและให้ธนาคารสาขาประสานงานกับทางอำเภอ โดยทางอำเภอจะออกหนังสือเชิญลูกหนี้และเจ้าหนี้มาเจรจาหนี้ ในส่วนของหลักเกณฑ์การค้ำประกันของธนาคารยังคงใช้เกณฑ์เดิม และการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อตรวจสอบมูลหนี้แล้วต่ำกว่า 50,000 บาท ขณะนี้ทางธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้มีการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ไปบ้างแล้ว ทั้งนี้ได้กำชับให้มีการติดตามผลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เมื่อเกิดปัญหาอุปสรรคอย่างไรจะได้แก้ไขปัญหาหรือหาแนวทางให้ลูกหนี้ได้อย่างทันท่วงที
กรมบัญชีกลาง
โทร. (02) 273-9101
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 20/2553 17 กุมภาพันธ์ 53--