ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. ไตรมาสแรก (ตุลาคม — ธันวาคม 2552) ประจำปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 08:05 —กระทรวงการคลัง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของภาครัฐบาล ตามระบบ สศค (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสแรก (ตุลาคม-ธันวาคม 2552) ประจำปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐบาล (รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีรายได้ทั้งสิ้น 532,621 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.6 ของ GDP เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว 95,855 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 648,984 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้ว 39,306 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 116,363 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 34.2 เกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนมาก สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด

(เอกสารประกอบข่าวแถลงฉบับที่ 21/2553)

ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

ตามระบบ สศค. ไตรมาสแรก (ตุลาคม — ธันวาคม 2552)

ประจำปีงบประมาณ 2553

ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค.1 (ระบบ Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสแรก (ตุลาคม-ธันวาคม 2552) ประจำปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น2) อัดฉีดเงินสุทธิเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหรือขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 112,623 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP3 ขาดดุลลดลงจากระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 58,422 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเป็นไปตามเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการคลังของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2553

1. รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 532,621 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.6 ของ GDP

(ช่วงเดียวกันปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 4.9 ของ GDP) และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว 95,855 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.9 ทั้งนี้เนื่องจากการจัดเก็บภาษีส่วนใหญ่ของรัฐบาลเพิ่มขึ้น (ภาษีมูลค่าเพิ่มภาษีสรรพสามิต และ อื่นๆ) ส่งผลให้รายได้รัฐบาล สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 71,083 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.5 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 25,366 ล้านบาท หรือร้อยละ 38.3 ส่วนบัญชีนอกงบประมาณ (กองทุนนอกงบประมาณ และเงินฝากนอกงบประมาณ) มีรายได้ต่ำกว่าเดียวกันปีที่แล้ว 594 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6

2. รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้น

เศรษฐกิจจริง มีจำนวน 645,244 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 34,433 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2เนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวน 443,605 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 43,939 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 ขณะที่ อปท. คาดว่าจะมีรายจ่ายจำนวน 73,473 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 8.7 และรายจ่ายจากเงินนอกงบประมาณและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาลรวม 127,910 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 0.5 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกองทุนประกันสังคม ส่วนรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศที่เบิกจ่ายจำนวน 256 ล้านบาท ลดลง 160 ล้านบาท

1 ระบบ สศค. : ระบบสถิติเพื่อการศึกษาและวิเคราะห์นโยบายการคลัง หรือ Government Finance Statistics (GFS) เป็นระบบสถิติที่รวบรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งหมด โดยครอบคลุมการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ เงินฝากนอกงบประมาณ กองทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ เงินกู้ต่างประเทศและเงินช่วยเหลือต่างประเทศ

2 เป็นการประมาณการดุลการคลังโดยใช้ข้อมูลสิทธิเรียกร้องจาก อปท. ในระบบธนาคาร (Net Claims of Banking System on Local Government)

3 คาดการณ์ GDP ปีงบประมาณ 2552 และ GDP ปีงบประมาณ 2551 เท่ากับ 8,993.8 และ 9,578.4 พันล้านบาท ตามลำดับ

3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากการที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ทำให้ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 112,623 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.2 ของ GDP) ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 171,045 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.9 ของ GDP) ซึ่งเป็นการขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 34.2

เกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายเป็นจำนวนมาก สะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างเด่นชัด สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งหมายถึงดุลการคลังของรัฐบาลที่

ไม่นับรวมรายรับและรายจ่ายจากดอกเบี้ยในไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลทั้งสิ้น 106,530 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 138,321 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.5 ของ GDP)

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 21/2553 18 กุมภาพันธ์ 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ