รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 19, 2010 11:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 ก.พ. 2553

Summary:

1. นายกฯ วางแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-ระยอง

2. กระทรวงพาณิชย์ขอคุมราคาเนื้อหมูที่ ก.ก.ละ 115-125 บาท

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี

Highlight:
1. นายกฯ วางแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-ระยอง
  • นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมคณะที่ปรึกษาทั้ง 47 คน และได้วางแผนระบบเศรษฐกิจ โดยเน้นการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่สำคัญสำหรับประเทศในอีก 30 ปีข้างหน้า พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะที่ปรึกษาไปศึกษาแนวทาง โดยตั้งเป้าหมายว่าต้องเริ่มดำเนินการจริงได้ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ เรื่องสำคัญที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อยากให้ทำเลยคือ รถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-ระยอง เพราะถือว่าภาคตะวันออกของไทยเป็นฮาร์เบอร์ ซิตี้ หรือเป็นเมืองท่าที่สำคัญของประเทศมีพื้นที่ที่มีศักยภาพทั้งพัทยา บางแสน ท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ระยอง ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปลงทุนเองทั้งหมด แต่เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับในรูปแบบ PPP (Public Private Partnership)
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งมวลชนนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย เนื่องจากระบบขนส่งที่สะดวกและรวดเร็วจะช่วยภาคเอกชนลดต้นทุนการผลิต รวมถึงเป็นการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ การลงทุนร่วมในลักษณะ PPP ดังกล่าวจะเป็นแรงดึงดูดต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศหันมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยในปี 2552 ที่ผ่านมา สศค.คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนของประเทศไทยจะหดตัวร้อยละ -12.7 ต่อปี จากปี 2551 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อปี
2. กระทรวงพาณิชย์ขอคุมราคาเนื้อหมูที่ ก.ก.ละ 115-125 บาท
  • น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้มีสินค้าหลายชนิด ที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ราคาเนื้อหมูแดงในขณะนี้ มีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 115-125 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาในปีก่อน ที่ราคากิโลกรัม ละ 110-115 บาท โดย ทางกรมการค้าภายในจะไปหารือกับทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ถึงสถานการณ์ราคา และจะขอให้คุมราคาอยู่ในระดับนี้ต่อไป เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้จับตาสถานการณ์ราคาปุ๋ยเหล็ก และทองแดงอย่างใกล้ชิด เพราะเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้าหลายชนิดที่ราคามีแนวโน้มสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจ ที่เริ่มฟื้นตัว
  • สศค.วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเงินเฟ้อภายในประเทศของปี 53 จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0 ต่อปี) โดยสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าเกษตรที่จะฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีรายได้จากภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก ดังนั้นรายได้ที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้นและส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆปรับตัวเพิ่มขึ้นในที่สุด ซึ่งจะนำโดยสินค้าอุปโภคบริโภคเช่น อาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น อย่างไรก็ตามก็ควรมีการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อมิให้ราคาสินค้าโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.1 ต่อปีแม้ว่าภาวะเงินฝืดเริ่มรุนแรงขึ้น ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายการเงินของ BOJ ได้ตัดสินใจคงนโยบายการให้กู้ยืมกับธนาคารพาณิชย์และมาตรการการซื้อพันธบัตรรัฐบาลด้วยเช่นกัน แม้ว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค (Overall CPI) ในเดือน ธ.ค. ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยลงอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 54 ปีที่ระดับร้อยละ -1.7 ต่อปี โดยในแถลงการณ์กล่าวว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแต่อาจยังไม่มีแรงส่งพอที่จะมีการขยายตัวได้อย่างยั่งยืนโดยที่ไม่มีการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจและในขณะเดียวกันได้กล่าวการการแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดยังคงเป็นความท้าทายซึ่งธนาคารและสถาบันการเงินควรจะร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการกู้ยืมสินเชื่อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าในช่วงทีผ่านมาเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องบ่งชี้ได้จาก GDP ไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวสูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ที่ร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (%qoq) หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.4 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในระยะถัดไป เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่อาจเริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งหากการปล่อยสินเชื่อเพื่อการกู้ยืมยังไม่มากพอและสอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจแล้วนั้น อาจกลายเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ค่าเงินเยนที่ยังคงแข็งค่าอยู่ (โดยปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 90 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ) นั้นอาจเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวในภาคการส่งออกเช่นกัน ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ