รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 23, 2010 10:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 ก.พ. 2553

Summary:

1. สศช.ประกาศ เศรษฐกิจ Q4 ปี 52 โตร้อยละ 5.8 ต่อปี

2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์เดือนม.ค. 53 โตขึ้นกว่า 43%

3. จีนประกาศนโยบายใหม่สนับสนุนการผลิตรถยนต์แบรนด์จีน

Highlight:
1. สศช.ประกาศ เศรษฐกิจ Q4 ปี 52 โตร้อยละ 5.8 ต่อปี
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 52 เติบโตที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี หรือร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากไตรมาส 3 ปี 52 ที่หดตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี (ตัวเลขปรับปรุง) ทำให้ทั้งปี 52 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหดตัวที่ร้อยละ -2.3 ต่อปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 52 มาจากภาคการส่งออก ทั้งการส่งออกสินค้าและบริการ โดยการส่งออกสินค้าสุทธิและบริการสุทธิมีส่วนใน GDP (GDP Contribution) ที่ร้อยละ 4.5 และร้อยละ12.6 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคภาครัฐเติบโตดีถึงร้อยละ 5.2 ต่อปี ผลจากนโยบายของรัฐที่เน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนยังคงอ่อนแอ โดยหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี หรือมี contribution ต่อ GDP ที่ร้อยละ -0.7 ต่อปี ทำให้เศรษฐกิจโดยรวมในปี 52 ดีกว่าที่สศค.คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ -2.8 ต่อปี (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 52)
2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐส่งผลให้ยอดผลิตรถยนต์เดือน ม.ค. 53 โตขึ้นกว่า 43%
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย จำนวนยอดขายภายในประเทศ การผลิต และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศเดือน ม.ค. 53 พบว่ายอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน ม.ค. 53 มีจำนวนทั้งสิ้น 49,560 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 54.5 ต่อปี แต่ลดลงจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 31.3 ต่อเดือน เป็นไปตามเป้าที่คาดว่ายอดขายภายในประเทศปี 53 จะถึง 600,000 คัน ซึ่งมากกว่าปี 52 ที่ขายได้ 548,871 คัน โตขึ้นร้อยละ 9.3 ทั้งนี้ เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่สูงขึ้น และจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีรถยนต์รุ่นเล็กเข้ามาเสริมในตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการบริโภคเพิ่มขึ้น โดยยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ม.ค. 53 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 54.5 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 27.7 ต่อปี ขณะที่ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนม.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 37.2 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 24.4 ต่อปี และสอดคล้องกับดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ในเดือน ม.ค. 53 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 47.3 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 28.8 ต่อปี ทั้งนี้ ภาพรวมทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นคาดว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายมากกว่าช่วงวิกฤติซึ่งจะส่งผลให้การผลิตยานยนต์ในปี 53 ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาและจะทำให้การจ้างงานภาคผลิตยานยนต์มีการจ้างงานเพิ่ม
3. จีนประกาศนโยบายใหม่สนับสนุนการผลิตรถยนต์แบรนด์จีน
  • กระทรวงอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารของจีน แถลงข่าวว่ารัฐบาลจีนวางแผนดำเนินนโยบายใหม่ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ด้วยการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ให้ควบรวมกิจการเพื่อขยายสู่การพัฒนาแบรนด์รถยนต์จีน
  • ทั้งนี้ จีนกลายเป็นผู้ผลิตรถรายใหญ่สุดของโลกและตลาดใหญ่ในปีที่ผ่านมา โดยมีการผลิตและการขายอยู่ที่ประมาณ 13.5 ล้านคัน เนื่องจากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้จีนมีผู้ผลิตรถกว่า 130 รายทั่วประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กซึ่งมีกำลังการผลิตและยอดขายต่อปีต่ำกว่า 10,000 คัน มีเพียง 5 รายที่ยอดขายสูงกว่า 1 ล้านคัน ทั้งนี้ ผู้ผลิตรถระดับTop 10 มียอดผลิตรถรวม 11.89 ล้านคันหรือ 87% ของยอดขายรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่าจากการที่รัฐบาลจีนประกาศนโยบายใหม่สนับสนุนการผลิตรถยนต์แบรนด์จีนอาจส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและลบต่อการส่งออกไทย โดยจะมีผลด้านบวกต่อมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยที่มีสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของมูลค่าการส่งออกรวมที่คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่อาจส่งผลลบต่อการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ (Hub)ของไทย ที่มูลค่าการส่งออกยานยนต์ของไทยมีสัดส่วนร้อยละ 9.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งรถยนต์จีนอาจเข้ามาตีตลาดและแย่งส่วนแบ่งตลาดไป เนื่องจากรถยนต์จีนเน้นที่ราคาถูกและมีขนาดเล็กเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ