รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 26, 2010 10:19 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 ก.พ. 2553

Summary:

1. ตลาดรถยนต์ปีขาล เริ่มด้วยยอดขายเกือบครึ่งแสนครม.

2. หอการค้าไทยยังคาดเศรษฐกิจปี 53 โตไม่ต่ำกว่า 3-4% เชื่อการเมืองยังไม่กระทบหากไม่เกิดเหตุรุนแรง

3. S & P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซลงอีกครั้ง

Highlight:
1. ตลาดรถยนต์ปีขาล เริ่มด้วยยอดขายเกือบครึ่งแสน
  • ตลาดรถยนต์รวมทุกประเภทในเดือนมกราคม 2553 มียอดจำหน่ายรวมทุกยี่ห้อ 49,560 คัน เพิ่มขึ้น 54.46% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมของปี 2552 ที่ผ่านมา โตโยต้าจำหน่ายได้สูงสุด คือ 20,289 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 40.94% อีซูซุมาเป็นอันดับ 2 ด้วยยอดจำหน่าย 10,168 คัน คิดเป็น 20.52% และฮอนด้ามาเป็นอันดับ 3 ด้วยยอดจำหน่าย 7,701 คัน คิดเป็น 15.54%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ที่ขยายตัวได้ดี สามารถนำมาพิจารณาได้ 2 ด้าน คือ การบริโภคภาคเอกชน พิจารณาจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนม.ค. 53 พบว่า ขยายตัวร้อยละ 53.2 ต่อปี ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนม.ค. 53 ที่ระดับ 71.9 ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 21 เดือน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 55.4 ต่อปี ชี้ให้เห็นถึงการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกับการนำเข้าสินค้าทุนที่หักเครื่องบิน เรือและรถไฟที่ขยายตัวร้อยละ 21.5 ต่อปี
2. หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจปี 53 โตไม่ต่ำกว่า 3-4% เชื่อการเมืองยังไม่กระทบหากไม่เกิดเหตุรุนแรง
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย กล่าวถึงสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจไตรมาส 4 ปี 2552 ว่า การขยายตัวถึง 5.8% ของ GDP เกิดจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง ทำให้การส่งออกของประเทศเริ่มกลับมาฟืนตัว ขณะเดียวกันราคาสินค้าเกษตรมีการปรับตัวสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้จากการค้าขายสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ความเป็นไปได้ของแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2553 มีโอกาสขยายตัวได้ 3-4% หากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงมีเสถียรภาพ รวมทั้งปัญหามาบตาพุดสามารถแก้ไขปัญหาได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
  • สศค.วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2553 จะมีการขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0-4.0) โดยมีแรงส่งจากทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 52 และแรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องไปยังปี 53 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 52 โดยการประมาณการดังกล่าวได้รวมผลกระทบของปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุดไว้แล้ว โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการลงทุนในเขตดังกล่าวอย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของกรอบวงเงินอนุมัติ รวมทั้งสามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคง ซึ่งคาดว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ในกรณีสูงของช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4 ต่อปี (คาดเมื่อเดือน ธ.ค. 52)
3. S & P อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซลงอีกครั้ง
  • สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard and Poors อาจปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซลงอีกครั้งภายในช่วงก่อนสื้นเดือน มี.ค. 53 จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและความเสี่ยงจากการที่พรรคฝ่ายค้านของประเทศกรีซได้ออกมาแสดงความวิตกจากกังวลต่อการปรับลดการขาดดุลของรัฐบาล โดย S&P ได้เคยปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศกรีซไปลงจากระดับ A- ลงมาอยู่ที่ระดับ BBB+ ในช่วงเดือน ธ.ค. 53
  • สศค.วิเคราะห์ว่าผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวต่อประเทศไทยน่าจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่มประเทศโปรตุเกส ไอรแลนด์ กรีซและสเปน (PIGS) มากนัก อีกทั้งสถาบันการเงินไทยมีฐานะ เข้มแข็งสามารถรองรับความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศในกลุ่ม PIGS ได้ นอกจากนี้ ผลกระทบผ่านภาคเศรษฐกิจจริง(Real Sector Impacts) อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมูลค่าการค่าและการลงทุน ระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด อย่างไรก็ตามในระยะสั้น รัฐควรติดตาม ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าวลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม และในระยะปานกลาง รัฐควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งและเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการ ส่งออกด้วย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ