Highlights:
- แรงไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างชาติปริมาณมากจากความผ่อนคลายทางการเมืองในสัปดาห์นี้ได้ส่งผลให้ตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตรและตราสารหนี้ของไทยปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกันได้ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมามาก
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ระยะยาวปรับตัวลดลงจากการขายพันธบัตร LB196A เพื่อเข้าซื้อพันธบัตร LB406A
- ราคาทองและน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่จะลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
Foreign Exchange Market:
- ค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างมาก จากความต้องการเข้าซื้อเงินบาทเพื่อมาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ พันธบัตรและตราสารหนี้ของไทยหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองในสัปดาห์นี้ดีกว่าที่ตลาดและนักลงทุนคาดไว้ในช่วงก่อนหน้า โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ร้อยละ 1.27 ซึ่งเป็นการแข็งค่าขึ้นมากกว่าแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเงินวอน ในขณะเดียวกัน ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อพิจารณาเทียบกับค่าเงินสกุล USD Index แล้วนั้นเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน
- ดัชนีค่าเงินบาทซึ่งถัวเฉลี่ยกับเงินสกุลของคู่ค้าหลัก (NEER) ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าถึงร้อยละ +1.22 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีถึงร้อยละ +1.97 เนื่องจากค่าเงินบาทมีแนวโน้มค่าขึ้นมากถึงร้อยละ +2.04 ซึ่งมากกว่าสกุลอื่นๆของประเทศคู่ค้าแทบทุกสกุลยกเว้นค่าเยน
- เงินทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ วันที่ 26 ก.พ. 53 อยู่ที่ระดับ 141.80พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 1.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ฐานะ Forward ปรับตัวลดลง -0.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Stock Market:
- ตลาดหลักทรัพย์ไทยในสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้นมากถึงประมาณ 20 จุดจากการที่นักลงทุนจากต่างชาติมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยหลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองมีความคลี่คลายขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินไหลเข้ามาสู่ประเทศไทยถึงประมาณ 252 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ในขณะเดียวกัน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากแผนการลดหนี้สาธารณะของประเทศกรีซและตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐภาคการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น
Money Market:
- อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของไทย (Thai baht fixing) ช่วงระยะข้ามคืนปรับตัวลดลง แต่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 3 เดือนปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐ (US LIBOR 3 เดือน)ปรับตัวขึ้นไปในเล็กน้อย
Bond Market:
- ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะปานกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยเฉพาะช่วงระยะ 10 ปีจากการที่นักลงทุนเทขายพันธบัตร LB196A และเข้าซื้อพันธบัตร LB406A ในภายหลังซึ่งส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 18 ปีขึ้นไปปรับตัวลดลง ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายลงได้ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในพันธบัตรไทยมากขึ้น
Commodity Market:
- ราคาน้ำมันดิบ Dubai ในสัปดาห์นี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐประกาศว่ากำลังการกลั่นน้ำมันปรับเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงซึ่งส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น
- ราคาทองปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการลงทุนในสินค้าภาภัณฑ์ที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th