นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 97,416 ล้านบาท สูงกว่าเป้า 19,500 ล้านบาท เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้า ที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย 1.07 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 23.8
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 97,416 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,454 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.0 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษีสรรพสามิตรถยนต์ เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในส่วนของภาษีสรรพสามิตรถยนต์แม้ว่าจะจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,460 ล้านบาท แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผู้บริโภคชะลอการซื้อ เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดงาน Motor Show ในเดือนมีนาคม
สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 558,794 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 107,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 โดยทั้ง 3 กรมจัดเก็บหลัก ได้แก่ กรมสรรพสามิต กรมสรรพากร และกรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 47,270 44,407 และ 8,497 ล้านบาท หรือร้อยละ 39.3 13.1 และ 27.5 ตามลำดับ
นายสาธิตฯ สรุปว่า “จากผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปี 2553 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จำนวน 1.522 ล้านล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ 1.72 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน”
สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553
ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 97,416 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 19,454 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553) จัดเก็บได้ 558,794 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 107,247 แสนล้านบาท เป็นผลจากเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. เดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 97,416 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 19,454 ล้านบาท หรือร้อยละ 25.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 13.5) เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีการจัดเก็บอากรขาเข้าได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ลดอัตราอากรขาเข้า สำหรับสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเหลือร้อยละ 0 เกือบทุกรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นต้น โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 39,053 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,105 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.2 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 32.37 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายใน ประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 15.78
- ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ 12,443 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,461 ล้านบาท หรือร้อยละ 55.9 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552
- ภาษีรถยนต์ จัดเก็บได้ 5,659 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,460 ล้านบาท หรือร้อยละ 76.9 เป็นผลจากกำลังซื้อ และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา การจัดเก็บภาษีรถยนต์ลดลงในเดือนกุมภาพันธ์ส่วนหนึ่งน่าจะมีสาเหตุจากผู้บริโภคบางส่วน ชะลอการซื้อ เพื่อรอการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดงาน Motor Show ในเดือนมีนาคม
สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 2,167 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจาก การจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ที่สูงกว่าประมาณการ 1,100 ล้านบาท นอกจากนี้ ในเดือนนี้ได้มี การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มงวดแรกของปีงบประมาณ 2553 ให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ เป็นจำนวนเงิน 10,778 ล้านบาท
2. ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — กุมภาพันธ์ 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 558,794 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 107,247 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.8 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 22.3) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการ ถึง 100,174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20.4 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 383,099 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 44,407 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 4.7) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ คือ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 33,344 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.7 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 167,651 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 47,270 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 73.8) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ประกอบกับการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีรถยนต์ และภาษีเบียร์ สูงกว่าประมาณการ 22,731 13,413 และ 4,502 ล้านบาท หรือร้อยละ 57.0 75.0 และ 21.1 ตามลำดับ
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 39,417 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 8,497 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 11.3) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 8,136 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.2 อย่างไรก็ตามการจัดเก็บอากรขาเข้าได้รับผลกระทบจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี ต่างๆ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ลดอัตราอากรขาเข้าสำหรับสินค้านำเข้าจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเหลือร้อยละ 0 เกือบทุกรายการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ที่ผ่านมา เป็นต้น
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 32,499 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,799 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 19.2) เนื่องจากการนำส่งรายได้ของกองทุนรวมวายุภักษ์ ที่สูงกว่าประมาณการ 1,100 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสินนำส่งรายได้ สูงกว่าประมาณการ 1,290 และ 708 ล้านบาท ตามลำดับ อย่างไรก็ดี โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 733 ล้านบาท เนื่องจากนำเงินไปใช้ในการก่อสร้างโรงงานยาสูบแห่งใหม่ นอกจากนี้ บมจ.การบินไทยไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เนื่องจากมีผลประกอบการขาดทุน
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 38,394 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,184 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.0 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 5.5) เนื่องจากในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวงการคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 82,940 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 4,174 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.8 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10.6) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 66,502 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 16,438 ล้านบาท
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 27/2553 12 มีนาคม 53--