รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 22, 2010 14:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มี.ค. 2553

Summary:

1. พาณิชย์เผยส่งออกเดือนก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี

2. ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรขายได้ในเดือนก.พ.53 ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี

3. อีโคโนมิสต์ห่วงเศรษฐกิจโลกสองปีหน้าขยายตัวแผ่ว

Highlight:
1. พาณิชย์เผยส่งออกเดือนก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี
  • กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกเดือนก.พ.53 มี มูลค่า 14,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 13,964 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 71.2 ต่อปี ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าประมาณ 439 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ได้ประเมินถึงทิศทางการส่งออกของไทย โดยมองว่าแนวโน้มการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ ตลาดต่างประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้ออย่างมากต่อการส่งออกไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในเดือนก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี เนื่องจากในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการนำเข้าทองคำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้การขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่ร้อยละ 30.8 ต่อปี หากหักทองคำออก การส่งออกในเดือนก.พ. 53 จะขยายตัวถึงร้อยละ 44.3 ต่อปี ซึ่งสินค้าส่งออกได้โดดเด่น เป็นสินค้าในกลุ่มยานยนต์ ทั้งนี้ การส่งออกของไทยได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนใกล้เคียงภาวะปกติ โดยอัตราการขยายตัวในเดือนก.พ. 53 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากเดือนม.ค. 53 (ปรับฤดูกาลแล้ว) ในส่วนของการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบในระดับสูง ซึ่งหากหักสินค้าทั้ง 2 ออก การนำเข้าจะขยายตัวร้อยละ 55.2 ต่อปี ซึ่งยังคงเป็นการขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
2. ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรขายได้ในเดือนก.พ.53 ขยายตัวร้อยละ 19.4 ต่อปี
  • สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนก.พ.53 ว่าหดตัวลงที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี อันเป็นผลจากการลดลงของผลผลิตหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาด ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนก.พ.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.4 ต่อปี จากราคาสินค้าเกษตรสำคัญได้แก่ ข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ก.พ. 53 จะหดตัวลงเล็กน้อย แต่จากการดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวในระดับสูง ทำให้รายได้เกษตรกรที่แท้จริง (Real Farm Income) ซึ่งหักอัตราเงินเฟ้อชนบทออกแล้ว เดือนก.พ. 53 ขยายตัวประมาณร้อยละ 12.1 ต่อปี (ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคชนบท อันสะท้อนได้จากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ยังขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือน ก.พ. 53 ปริมาณการจำหน่ายจักรยานยนต์ขยายตัวที่ร้อยละ 26.0 ต่อปี (หรือขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่อเดือน)
3. อีโคโนมิสต์ห่วงเศรษฐกิจโลกสองปีหน้าขยายตัวแผ่ว
  • ดิ อีโคโนมิสต์ อินเทลลิเจน ยูนิต หรือ อีไอยู มองว่าตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่ดีขึ้นเร็วๆ นี้ ไม่ว่าจะเป็นวัฏจักรการปรับสินค้าคงคลัง นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การค้าโลก แม้บ่งบอกว่าทุกอย่างดีขึ้น แต่กลับซ่อนปัญหาของบางประเทศและในภูมิภาคสำคัญ ซึ่งอาจฉุดรั้งให้การเติบโตของโลกชะลอตัวในช่วงสองปีนับจากนี้ โดย อีไอยู คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 1.6 ในปีหน้า สำหรับญี่ปุ่นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่มั่นคง โดยคาดว่าจีดีพีญี่ปุ่นจะขยายตัวร้อยละ 1.5 ปีนี้ และร้อยละ 1.1 ในปี 54 ขณะที่ยุโรปยังคงมีปัญหาโดยเฉพาะในภาคธนาคาร ประกอบกับปัญหาหนี้สาธารณะในกรีซ ทำให้คาดว่าจีดีพียุโรปจะเป็นบวกที่ร้อยละ 0.8 ในปีนี้ และร้อยละ 1.0 ในปี 54 สำหรับเศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.6 ในปีนี้และร้อยละ 8.1 ในปีหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามตัวเลขการว่างงานยังคงไม่บ่งชี้การฟื้นตัวที่ชัดเจน ทั้งนี้ ความกังวลต่อความยั่งยืนและเสถียรภาพของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้หลายประเทศดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น ญี่ปุ่นประกาศขยายวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพิ่มเติม และสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและยูโรป ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ส่วนหนึ่งเนื่องจากข้อจำกัดของนโยบายการคลังจากปริมาณหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ