ความคืบหน้ากฎหมาบปฏิรูประบบการเงินสหรัฐฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 23, 2010 11:08 —กระทรวงการคลัง

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2553 นายคริสโตเฟอร์ ดอดต์ ประธานคณะกรรมาธิการธนาคารวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับร่างกฎหมายปฏิรูประบบการเงินสหรัฐฯเพิ่มเติม โดยคาดว่าจะสามารถผลักดันให้วุฒิสภาสหรัฐฯ ออกเสียงผ่านกฎหมายดังกล่าวภายในเดือนเมษายน 2553 ทั้งนี้ ข้อเสนอของประธานคณะกรรมาธิการการธนาคารวุฒิสภาสหรัฐฯ แบ่งเป็ฯ 5 ประเด็นหลัก สรุปได้ดังนี้

1. การเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลธนาคารและสถาบันการเงิน โดยเสนอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นผู้กำกับดูแลธนาคารรายใหญ่ที่มีสินทรัพย์สูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสรอ. ซึ่งมีทั้งสิ้นประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ ข้อเสนอดังกล่าวนับเป็นการลดบทบาทของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากเดิมที่กำกับดูแลธนาคารและสถาบันการเงินทุกขนาดเป็นจำนวนมากกว่า 5,000 แห่ง ทั้งนี้ นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลัง และนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานกลางสหรัฐฯ ต่างไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอข้างต้น เนื่องจากเห็นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ ควรเป็นองค์กรหลักในการกำกับดูแลภาคธนาคารและสถาบันการเงินทั้งหมด อนึ่ง ในส่วนของ State-chartered Bank ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 50,000 พันล้านเหรียญสรอ. จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ หรือ FDIC ในขณะที่ National Bank ที่มีสินทรัพย์ต่ำกว่า 50,000 พันล้านเหรียญสรอ. จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ National Bank Regulator

นอกจากนี้ หากพิจารณาแล้วเห็นวา สถาบันการเงินใดอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemtic Risk) ต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม สถาบันกาเรงินดังกล่าวจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา แทนการใช้เงินภาษีประชาชนเช่นที่ผ่านมา

2. การปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (Consumer Financial Protection) โดยจัดตั้ง (Consumer Financial Protection Agency (CFPA) ขึ้นภายใต้ธนาคารกลางสหรัฐฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินขนาดใหญ่ (นอกเหนือจากธนาคาร) ธุรกิจบัตรเครคิต ธุรกิจสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยที่มีสินทรัพย์สูงกว่า 10,000 ล้านเหรียญ สรอ.โดย CFPA จะเป็นผู้จัดทำกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีอำนาจดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าว

3. การกำกับดูแลการลงทุนที่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง โดยจัดตั้งคณะกรรมการดูแลเสถียรภาพทางการเงิน (Financial Stability Oversight Council) ภายใต้การนำของทิโมธี ไกธ์เนอร์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ซึ่งมีหน้าที่หลักในการระบุต้นตอความเสี่ยงตลอดจนบริหารจัดการความเสี่ยงในระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะครอบคลุมการดูแลกองทุนบริหารความเสี่ยง (Hedge Fund) และกองทุนเพื่อการลงทุนภาคเอกชน (Private-Equity Fund) ซึ่งมีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง ตลอดจนการกำหนดเพดาน ความซับซ้อนและขนาดของการซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อบริษัทเอง (Proprietary Trading) ที่ก่อประโยชน์เฉพาะลูกจ้างและผู้ถือหุ้น แต่ไม่ก่อประโยชน์แก่ลูกค้าธนาคาร ซึ่งจะเป็นการบังคับให้ธนาคารขายหรือแตกกิจการในส่วน Hedge Fund และ Private-Equity Fund ออกไป

4. การปรับปรุงขีดความสามารถของภาครัฐในการจัดการสถาบันการเงินที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม โดยคณะกรรมธิการร่วมระหว่าง กระทรวงการคลังธนาคารกลาง และบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐฯ อาจมีมติให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่ล้มเหลวทางการเงินต้องยุบเลิกกิจการหรือ Liquidation

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีอำนาจในการแยกบริษัทที่มีสินทรัพย์สูงกว่า 50,000 ล้านเหรียญสรอ. หากมีแนวโน้มที่จะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวม

5. การกำกับดูแลสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating Agency) โดยเสนอให้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (Securities and Exchange Commission : SEC) และจะต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดในการจัดอันดับความเชื่อถือให้กับตราสารหนี้และการลงทุนอื่นๆ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


แท็ก สหรัฐ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ