รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 10:26 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 มี.ค. 2553

Summary:

1. ธปท.เผยเงินไหลเข้าไทย เป็นผลให้เงินบาทแข็งร้อยละ 3.18 แต่แข็งรองจากมาเลเซีย

2. ส.อ.ท. วอนรัฐบาล-เสื้อแดงเจรจาหาทางออก

3. อาเซียนเตรียมถอนแผนมาตรการกระตุ้น ศก. ในการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนหน้า

Highlight:
1. ธปท.เผยเงินไหลเข้าไทย เป็นผลให้เงินบาทแข็งร้อยละ 3.18 แต่แข็งรองจากมาเลเซีย
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึง ภาวะเงินทุนจากต่างชาติที่ยังคงไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องในภูมิภาค รวมถึงไทย โดยตั้งแต่ต้นปีไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจนถึงปัจจุบันประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็ไม่มากเมื่อเทียบกับภูมิภาค เช่น เกาหลี และอินเดียที่มีการไหลเข้าซื้อหุ้นสุทธิ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทนับจากต้นปีจนถึงปัจจุบัน แข็งค่าร้อยละ 3.18 และแข็งค่าขึ้นนับจากต้น เดือนมี.ค.53 ที่ร้อยละ 2.23 นับเป็นอันดับ 4 เมื่อเทียบกับภูมิภาค ขณะที่มาเลเซีย ยังเป็นอันดับ 1 ที่ร้อยละ 2.6 อินโดนีเซียอันดับ 2 ที่ร้อยละ 2.5 และเกาหลีใต้อันดับ 3 ที่ร้อยละ 2.3
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในช่วงเดือนมี.ค. 53 ดัชนีหลักทรัพย์ตลาดเกิดใหม่ (MSCI Emerging Market) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย (SET) เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ร้อยละ 5.3 แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทยส่วนหนึ่งเนื่องจากสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรง ประกอบกับเครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง จึงเป็นผลให้ไทยเป็นแรงดึงดูดในการเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ เฉพาะต้นเดือนมี.ค.ถึงปัจจุบันต่างชาติเข้าซื้อสุทธิสูงที่ 30,553 ล้านบาท ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ซื้อสุทธิที่ 16,819 ล้านบาท เป็นผลทำให้นับจากต้นปี ต่างชาติมีการเข้าซื้อในทั้ง 2 ตลาดที่ 30,769 ล้านบาทและ 21,050 ล้านบาท ตามลำดับ
2. ส.อ.ท. วอนรัฐบาล-เสื้อแดงเจรจาหาทางออก
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย การชุมนุมของเสื้อแดงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากโรงงานไม่ได้อยู่ในเขตกรุงเทพฯ จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันหน้าเจรจาเพื่อหาทางออก นอกจากนี้ กล่าวถึงยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6 แสนคัน ยอดส่งออกประมาณ 8 แสนคัน โดยตลาดส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัว คือ ตลาดยุโรป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญาความไม่สงบทางการเมืองในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายในประเทศและนักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศมีน้ำหนักสูงถึงร้อยละ 39.0 ของ GDP อย่างไรก็ตาม ภาคอุตสาหกรรมในช่วงที่ผ่านมามีสัญญาญณการฟื้นตัว โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมล่าสุดในเดือน ม.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 29.1 ต่อปี ซึ่งอุตสาหกรรมที่ขยายตัวดีคืออุตสาหกรรมเน้นการส่งออกเป็นหลัก ได้แก่ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ที่ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 69.1 และ 48.7 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งล่าสุดในเดือน ก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 57.3 ต่อปี ขยายตัว 6 เดือนติดต่อกัน สะท้อนถึงกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
3. อาเซียนเตรียมถอนแผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุมสุดยอดผู้นำในเดือนหน้า
  • สำนักข่าวนิกเกอิรายงานว่า ในการประชุมสุดยอดอาเซียนในเดือน เม.ย. 53 นี้ ผู้นำอาเซียนจะยืนยันความจำเป็นในการถอนมาตรการกระตุ้นด้านนโยบายการเงินและการคลัง พร้อมทั้งรับรองว่าเศรษฐกิจจะยังขยายตัวและฟื้นตัวอย่างยั่งยืน โดยจะมีการพิจารณาดำเนินแผนยุทธศาสตร์ทางออก (Exit strategies) ในเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ธนาคารกลางของมาเลเซียได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนนโยบายขึ้นเป็นร้อยละ 2.25 ในเดือนนี้จากร้อยละ 0.25 ซึ่งนับเป็น ธนาคารกลางรายแรกในภูมิภาคเอเชียที่เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แผนการถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ปรับตัวดีขึ้น เห็นได้จากการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 4 ของปี 52 ที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี และของมาเลเซียที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ผลมาจากการบริโภคของภาคเอกชนและการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นหลัก ทั้งนี้ การถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านนโยบายการคลังและการเงิน ยังจะช่วยลดภาระหนี้สาธารณะและเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินแผนยุทธศาสตร์ทางออกที่เหมาะสม ประเทศสมาชิกอาเซียนควรมีข้อตกลงที่ชัดเจนในการร่วมมือเพื่อถอนมาตรการดังกล่าวในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประเทศสมาชิก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ