รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 มีนาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 10:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 มี.ค. 2553

Summary:

1. เงินทุนไหลเข้าไทย ค่าเงินบาทแข็งค่า ธปท.เข้าดูแล

2. BOI บุกอเมริกาดึงนักลงทุนทำธุรกิจในไทย

3. ญี่ปุ่นวางแผนที่จะลดระดับหนี้สาธารณะของประเทศ

Highlight:
1. เงินทุนไหลเข้าไทย ค่าเงินบาทแข็งค่า ธปท.เข้าดูแล
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานฐานะทุนสำรองทางการระหว่างประเทศและฐานะสุทธิการซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ล่าสุดช่วงวันที่ 12-19 มี.ค. 53 ซึ่งเป็นช่วงสัปดาห์ที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จำนวนมากส่งผลค่าเงินบาทแข็งค่าสูงสุดในรอบ 21 เดือนที่ 32.53 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมาทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ธปท.ได้เข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องเพื่อลดความผันผวนไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป โดยได้เข้าซื้อดอลลาร์ทันทีและซื้อดอลลาร์ล่วงหน้ากว่า 1, 016.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศ ณ วันที่ 19 มี.ค.เพิ่มขึ้นเป็น 143,765.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 143,483.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในวันที่ 12 มี.ค. และฐานะซื้อขายเงินตราต่างประเทศสุทธิ ณ 19 มี.ค.อยู่ที่ 12,739.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จาก 12,005 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในวันที่ 12 มี.ค. 53
  • สศค.วิเคราะห์ว่า หากพิจารณามูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารหนี้ ในช่วงสัปดาห์ 15-19 มี.ค. 53 พบว่าต่างชาติเข้าซื้อสุทธิที่ 11,552 ล้านบาท และ 4,006 ล้านบาท ตามลำดับ เป็นผลทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากที่ร้อยละ -1.01 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศโดยรวมเพิ่มขึ้น 1,062 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากสัปดาห์ก่อนหน้า (ค่าเงิน ยูโรและเยนมีการอ่อนค่าลงที่ร้อยละ 1.67 และ 0.08 ตามลำดับ) อย่างไรก็ตาม การเข้าซึ้อสุทธิของต่างชาติแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อประเทศไทย โดยนับจากต้นปีถึงปัจจุบัน ต่างชาติมีการเข้าซื้อในทั้ง 2 ตลาดที่ 37,791 ล้านบาทและ 22,778 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.94
2. BOI บุกอเมริกาดึงนักลงทุนทำธุรกิจในไทย
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เผยว่า ช่วงวันที่ 27 มี.ค.-6 เม.ย. 53 รมว.อุตสาหกรรมจะนำคณะนักธุรกิจไทย พร้อมด้วยผู้บริหาร BOI สถาบันยานยนต์ และธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เดินทางไปจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ เมืองซานฟรานซิลโก และลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงให้นักลงทุนทราบถึงสถานการณ์ในไทย โดยจะพบปะและเยี่ยมชมกิจการของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะนักลงทุนชาวสหรัฐฯเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เป็นต้น โดยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯมีสัดส่วนร้อยละ 10.9 ของมูลค่าการส่งออกรวม ซึ่งสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 17.7 และ 9.3 ตามลำดับ โดยในเดือน ก.พ.53 มีการส่งออกถึงร้อยละ 48.5 และ77.2 ต่อปี นอกจากนี้ การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 53 ขยายตัวร้อยละ 37.1 ต่อปี ในปริมาณเงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.0 ต่อปี ทั้งนี้ เงินลงทุนของโครงการที่ได้รับอนุมัติของนักลงทุนชาวสหรัฐฯมีจำนวน 5 โครงการ ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนจำนวน 662.9 ล้านบาท
3. ญี่ปุ่นวางแผนที่จะลดระดับหนี้สาธารณะของประเทศ
  • รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางแผนที่จะตั้งเป้าการลดระดับหนี้สาธารณะของประเทศอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้ สัดส่วนหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นต่อจีดีพีโดยประมาณอยู่ที่ร้อยละ 192.1 ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงที่สุดสำหรับกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม รัฐบาลญี่ปุ่นวางแผนที่จะประกาศกรอบการใช้งบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2554-2556 และแผนวินัยทางการคลัง ภายในเดือน มิ.ย. 53 นี้ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี และการลดการขาดดุลการคลังสำหรับในระยะกลาง จนให้มีการเกินดุลการคลังในระยะยาว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่สูงไม่น่าเป็นห่วงมากเมื่อเทียบกับปัญหาที่เกิดในประเทศกลุ่มยูโรโซน เช่น กรีซ หรือไอร์แลนด์ เนื่องจากพันธบัตรรัฐบาลเงินสกุลเยนถูกถือครองโดยผู้ที่อยู่ภายในประเทศ (Resident) เป็นส่วนใหญ่ ปัญหาความเชื่อมั่นและการเก็งกำไรจึงอยู่ในระดับที่ต่ำ รวมถึงการที่นโยบายการเงินของญี่ปุ่นมีความเป็นอิสระและยืดหยุ่นมากกว่าของประเทศในกลุ่มยูโรโซน ซึ่งถูกจำกัดธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank) อย่างไรก็ตาม การที่ญี่ปุ่นมีสัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงที่สูดในกลุ่มประเทศ OECD ได้สร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมีความพยายามที่จะลดการขาดดุลการคลังเช่นกัน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ