รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 1, 2010 10:07 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 เม.ย. 2553

Summary:

1. ธปท. ชี้สัญญาเศรษฐกิจเดือนก.พ. ยังฟื้นตัวได้ดีเบื้องต้นยังคงประมาณการจีดีพีที่ 3.3 — 5.3 %

2. ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรียกร้องให้หาทางออกทางการเมืองหลังธุรกิจได้รับผลกระทบ

3. ยอดการสั่งสินค้าส่งออกใหม่ของญี่ปุ่นสูงสุดในรอบ 6 ปี

Highlight:
1. ธปท.ชี้สัญญาเศรษฐกิจเดือนก.พ. ยังฟื้นตัวได้ดี เบื้องต้นยังคงประมาณการจีดีพีที่ 3.3 — 5.3 %
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่าภาวะเศรษฐกิจเดือน ก.พ. 53 โดยรวมยังสามารถขยายตัวได้ดีจากปัจจัยสนับสนุนคือ ภาวะเศรษฐกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเซีย ที่ช่วยให้อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวทั้งด้านการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการบริโภคภาคเอกชนก็ขยายตัว ภาวะการจ้างงานดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มปรับตัวได้ดี ซึ่งบางอุตสาหกรรมมีการใช้กำลังการผลิตในระดับ 80 % แล้ว โดยยังคงคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไว้ที่ระดับร้อยละ 3.3 — 5.3 ต่อปี

-สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ก.พ. 53 มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ 23.1 การส่งออกปรับตัวดีขึ้นในทุกหมวดสินค้าและประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องสะท้อนจากเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 26.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้เกษตรที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 26.0 แสดงถึงการบริโภคสินค้าคงทนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ส่วนในด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะผลผลิตอุปกรณ์วิทยุและโทรทัศน์ อุตสาหกรรมรถยนต์ เครื่องจักรสำนักงาน เฟอร์นิเจอร์และเครื่องประดับ ซึ่ง ในปี 53 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 4.0 - 4.5 ต่อปี

2. ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเรียกร้องให้หาทางออกทางการเมืองหลังธุรกิจได้รับผลกระทบ
  • สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย (เฟสต้า) เปิดเผยว่า ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในแหล่งท่องเที่ยวตามจังหวัดต่างๆ จะนัดรวมตัวกันเพื่อประชุมและเรียกร้องให้รัฐบาลและกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ร่วมกันหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการชุมนุมโดยเร็ว หลังจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจการประชุมและสัมมนาได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.

-สศค. วิเคราะห์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดือน ก.พ. 53 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 1.64 ล้าน จากเดือนก่อนหน้าที่มีจำนวน 1.63 ล้านคน โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ร้อยละ 28.7 ต่อปี โดยทุกตลาดท่องเที่ยวมีการขยายตัวที่สูงขึ่น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในกลุ่มภูมิภาคเอเชีย (เอเชียตะวันออกและอาเซียน) ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองต่างๆ ย่อมส่งผลกระทบด้านลบต่อจิตวิทยาและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวที่ไทย ดังนั้น นักท่องเที่ยวบางส่วนอาจชะลอการตัดสินใจหรือยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวที่มีวันหยุดยาว เช่น วันสงกรานต์ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้

3. ยอดการสั่งสินค้าส่งออกใหม่ของญี่ปุ่นสูงสุดในรอบ 6 ปี
  • สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่ายอดการสั่งสินค้าส่งออกใหม่ของญี่ปุ่นสำหรับเดือน มี.ค. 53 อยู่ในระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า 6 ปีที่ผ่านมา โดยดัชนีสำหรับยอดการสั่งสินค้าส่งออกใหม่ (Index for New Export Orders) อยู่ที่ระดับ 55.7 สูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 55.2 และเป็นระดับที่สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 47 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิตซึ่งมาจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราการขยายตัวของภาคส่งออกญี่ปุ่นเริ่มเป็นบวกตั้งแต่เดือน ธ.ค. 52 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 45.3 ในเดือน ก.พ. 53 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และการส่งออกสุทธิมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่ร้อยละ 0.5 จากการเจริญเติบโตของจีดีพีที่ร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่ 4 ปี 52 (qoq) อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 53 จะไม่สูงนัก เนื่องจากการที่ประเทศอื่นๆ เริ่มชะลอการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายลง และการที่ญี่ปุ่นเองมีแผนที่จะลดการใช้จ่ายลงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศเองถูกขับเคลื่อนมาจากภาครัฐเป็นหลัก

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ