รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 2, 2010 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 เม.ย. 2553

Summary:

1. ก.พาณิชย์ฯ เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี

2. นักวิชการนิด้าชี้ หากปัญหามาบตาพุดยืดยื้อจะฉุดจีดีพีลดลง -1.3%

3. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ Tankan ของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -14

Highlight:
1. ก.พาณิชย์ฯ เผยอัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี
  • กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) หรืออัตราเงินเฟ้อในเดือน มี.ค. 53 อยู่ที่ 107.13 ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี แต่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี โดยมีสามาเหตุมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.2 ตามราคาการสินค้าภาคการเกษตรและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ต่อปี ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 3.0 — 3.5 ต่อปี
  • สศค.วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือนมี.ค. 53 ที่เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี นั้น ถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตั้งแต่เดือน ต.ค.52 โดยการปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนนี้มีสามาเหตุมาจากราคาสินค้าในหมวดอาหารสดที่ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.2 ตามราคาการสินค้าภาคการเกษตรและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังอยู่ในระดับ 0.4 ต่อปียังคงอยู่ในระดับทีต่ำกว่าช่วงการดำเนินนโยบายการเงินแบบติดตามเป้าหมายเงินเฟ้อของ ธปท. ที่ร้อยละ 0.5 — 3.0 ต่อปีบ่งชี้ว่าความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อยังคงไม่มากและยังคงมีช่องทางในการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายได้ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 53 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.5 - 4.5) และ 1.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อนละ 1.0 - 2.0) ตามลำดับ
2. นักวิชการนิด้าชี้ หากปัญหามาบตาพุดยืดยื้อจะฉุดจีดีพีลดลง -1.3%
  • คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงผลกระทบของกรณีมาบตาพุด ขณะนี้โครงการที่ยังคงถูกระงับชั่วคราวภายใต้คำสั่งของศาลปกครองสูงสุดคง เหลือสุทธิอยู่ที่ 49 โครงการ หากในกรณีที่ทั้ง 49 โครงการสามารถดำเนินการต่อได้ในสิ้นปี 2553 จะไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2553 ที่ประมาณการไว้ว่าจะเติบโต 3.8% อย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการของโครงการต่างๆ มีความล่าช้าใน จะผลกระทบต่อ GDP ในปี 2553-2554 ให้ลดลงสูงสุดประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 1.3% ของ GDP
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อ 76 โครงการที่ศาลสั่งระงับจะอยู่ในวงจำกัดที่ร้อยละ 0.2-0.5 จากที่ได้แถลงการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2553 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 นอกจากนี้ ผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติได้พัฒนาในทิศทางที่ดีขึ้น จากขั้นตอนกระบวนการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น และการชี้แจงความคืบหน้าและทิศทางการแก้ไขสถานการณ์มาบตาพุดต่อนักลงทุนผ่าน Roadshow ที่ญี่ปุ่นและฮ่องกง
3. ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ Tankan ของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -14
  • ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ Tankan ของญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ -14 จากช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ที่อยู่ที่ระดับ -25 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั้งภาคการใช้จ่ายภายในประเทศและนอกประเทศ ทั้งนี้ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของญี่ปุ่นได้ส่งผลให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี Nikkei ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้าที่ร้อยละ 0.7 และเป็นการปรับตัวต่อเนื่องผ่านระดับ 11,000 จุดในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา
  • ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่าการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวที่ดีของเศรษฐกิจเอเชียโดยเฉพาะจีน ซึ่งยังส่งผลให้ภาคการส่งออกของญี่ปุ่นนั้นขยายตัวได้ในระดับสูงบ่งชี้ได้จากมูลค่าการส่งออกในเดือน ก.พ. ของญี่ปุ่นยังสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 45.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาฯคาดว่า ในปี 53 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปี 2553 จะยังคงเป็นเรื่องของการแก้ปัญหาการว่างงาน และความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืดระยะยาว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ