รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 5, 2010 11:00 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 เม.ย. 2553

Summary:

1. โตโยต้า เพิ่มกำลังการผลิต คาดยอดผลิตทั้งปีแตะ 6.5 แสนคัน

2. ไฟเขียว 9 สินค้าเกษตรรับเปิดเสรีทางการค้า

3. การผลิตทั่วโลกพุ่งส่งสัญญาณฟื้นตัว

Highlight:
1. โตโยต้า เพิ่มกำลังการผลิต คาดยอดผลิตทั้งปีแตะ 6.5 แสนคัน
  • นายวิเชียร เอมประเสริฐสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่าจากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ทำให้ค่ายรถต้องเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตรถยนต์มากขึ้น รวมไปถึงโตโยต้าที่รถยนต์หลายรุ่นเริ่มมียอดค้างส่ง 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน ทำให้ต้องเร่งไลน์การผลิตทุกโรงงานเพื่อรองรับความต้องการ ทั้งนี้ ได้ให้มุมมองของอุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วงที่เหลือของปีว่า ปัจจัยบวกที่ต่อเนื่องมาจากไตรมาสแรกจะส่งผลต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 2 และครึ่งหลังของปีนี้ โดยมองว่าปัจจัยบวกหลักๆ ได้แก่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและเอเชีย ที่ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผ่านการฟื้นตัวของตลาดส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ได้ฟื้นตัวแบบเร่งขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 52 จากจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรกของปี 52 ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์มีแนวโน้มการขยายตัวที่โดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมอื่น โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 53 พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 71.2 ต่อปี ส่วนยอดขายรถยนต์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 55.8 ต่อปี สำหรับการส่งออกยานยนต์ขยายตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 60.2 ต่อปี จากยอดการผลิต ยอดขายทั้งในและต่างประเทศที่ขยายตัวในระดับสูง จะเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 ปี 53 นี้ ขยายตัวได้สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 ต่อปี
2. ไฟเขียว 9 สินค้าเกษตรรับเปิดเสรีทางการค้า
  • รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการเปิดเสรีตลาดสินค้าเกษตร 9 รายการ ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่ เมล็ดพันธุ์หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง เมล็ดกาแฟ กาแฟสำเร็จรูป ชา พริกไทย และลำไยแห้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อผูกพันองค์การค้าโลก (WTO) และข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ตลอดจนข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดการค้าเสรีดังกล่าว น่าจะส่งผลบวกต่อผู้ส่งออกและนำเข้าของสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจากเกษตรกรไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ประกอบกับไทยจะต้องมีการนำเข้าสินค้าประเภทผักและผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก โดยในช่วง 2 เดือนแรกปี 53 การนำเข้าผักและผลิตภัณฑ์ อยู่ที่ 1,226 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 33.4 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้า รวมทั้งส่งเสริมให้มีการแปรรูปสินค้าเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศ
3. การผลิตทั่วโลกพุ่งส่งสัญญาณฟื้นตัว
  • ภาคการผลิตในเดือนมี.ค. 53 ของสหรัฐฯ ขยายตัวเร็วที่สุดในรอบ 5 ปี เพิ่มความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังก้าวเข้าสู่ภาวะการขยายตัว โดยดัชนีการบริหารซัพพลายของโรงงานปรับตัวสูงขึ้นที่ระดับ 59.6 ซึ่งเป็นการสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 47 และสูงกว่าที่นักเศรษฐศษสตร์ประมาณการไว้ที่ 50 นอกจากนี้ สถาณการณ์ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ตัวเลขยอดขายและสินค้าคงคลังที่ไม่เหลือค้าง ซึ่งทำให้ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 จากปีแล้วที่หดตัวร้อยละ -0.8 โดยเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวถึงร้อยละ 10 ส่วนสหภาพยุโรปจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 53 ทำให้อุปทานของภาคการผลิตขยายตัวดีขึ้น โดยยอดคำสั่งซื้อภาคอุตสาหกรรมใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 53 อยู่ที่ระดับ 57.5 ซึ่งปรับตัวสูงกว่าไตรมาสแล้วที่ระดับ 54.6 สอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมใน 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 53 ที่อยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อไตรมาส ขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -4.5 ต่อไตรมาส ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานให้ขยายตัวดีขึ้นและจะทำให้อัตราการว่างงานในไตรมาสแรกของปี 53 ต่ำกว่าไตรมาสแล้วที่ร้อยละ 10.0 ต่อปี ทั้งนี้ จากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะส่งดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วยโดยเฉพาะด้านการส่งออก เนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า ในปี 53 เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี และทำให้การขยายตัวของ 14 ประเทศคู่ค้าอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ