รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 7, 2010 11:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 เม.ย. 2553

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส

2. ก.พาณิชย์มั่นใจการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ไม่กระทบเป้าส่งออกที่ร้อยละ 14 ต่อปี

3. IMF ปรับลดประมาณการ GDP เยอรมนีปี ค.ศ. 2010

Highlight:
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯ ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส
  • กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยประจำไตรมาส 1 ของปี 53 ว่า หลังจากที่สถานการณ์ทางการเมืองมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ สิ้นสุดลงในวันที่ 31 พ.ค. 53 และราคาวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ดัชนีความคาดหวังในอีก 6 เดือนข้างหน้าของผู้ประกอบการปรับลดลงมาก โดยอยู่ที่ 63.4 ซึ่งลดลงในรอบ 5 ไตรมาสนับจากมีการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปี 52 ทั้งนี้ คาดว่า ในครึ่งปีหลังยังคงมีหลายปัจจัยลบ ทั้งข่าวร้ายเศรษฐกิจ การเมือง และแนวโน้มราคาที่อยู่อาศัยซึ่งหากปรับขึ้น อาจมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการอสังหาฯลดลงน่าจะเป็นผลทางจิตวิทยา จากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบในประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ณ เดือน ก.พ. 53 พบว่าการลงทุนในภาคการก่อสร้างมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยอดขายปูนขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 7.1 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และปริมาณจำหน่ายเหล็กภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ร้อยละ 15.8 ต่อปี สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในหมวดก่อสร้างและหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 และ 60.2 ต่อปี ตามลำดับรวมถึงพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลรวมขยายตัวร้อยละ 26.1 ต่อปี ที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน
2. ก.พาณิชย์มั่นใจการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ไม่กระทบเป้าส่งออกที่ร้อยละ 14 ต่อปี
  • รมว. กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชประสงค์ ถือเป็นถนนสายเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้าในประเทศ ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ปัญหาทุกอย่างจบลงโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม การชุมนุมดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ยังสามารถรักษาเป้าการส่งออกในปี 53 ไว้ที่ระดับร้อยละ 14
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.0 — 5.0 ต่อปี) ซึ่งปัญหาทางการเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยหากปัญหาการชุมนุมสิ้นสุดลงภายในไตรมาส 2 เศรษฐกิจจะปรับลดลงร้อยละ -0.2 ต่อปีจากกรณีฐาน หากการชุมนุมไปสิ้นสุดภายในไตรมาส 3 เศรษฐกิจจะปรับลดลงร้อยละ -0.5 ต่อปีจากกรณีฐาน และการชุมนุมยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 4 เศรษฐกิจจะปรับลดลงถึงร้อยละ -1.8 ต่อปีจากกรณีฐาน โดยกระทบผ่านปริมาณและมูลค่าการส่งออกบริการ (จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ) และผ่านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอลง
3. IMF ปรับลดประมาณการ GDP เยอรมนีปี ค.ศ. 2010
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ปรับลดประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เยอรมนี ปี ค.ศ. 2010 หลังมีความกังวลเกี่ยวกับฐานะการเงินของภาคสถาบัน การเงินเยอรมนี โดย IMF ลดการประมาณการขยายตัวของจีดีพีเยอรมนีในปี 2010 มาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี จากประมาณการครั้งก่อนหน้าอยู่ที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า IMF ได้ปรับลดประมาณการณ์ GDP ของเยอรมนี เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศและยอดการส่งออกมีแนวโน้มที่ปรับตัวลดลง ทั้งนี้ ในปี 52 GDP ของเยอรมนีหดตัวลดลงร้อยละ 5.0 ต่อปี ผลจากมูลค่าการส่งออกที่หดตัวถึงร้อยละ 14.7 ต่อปี ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปี ทำให้คาดว่า ในปี 53 ยอดการส่งออกเยอรมนีจะปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า สะท้อนจากยอดส่งออกในเดือนแรกของปี 53 ที่ปรับตัวลดลงถึงร้อยละ 6.3 ต่อปี สำหรับการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัดส่วนต่อ GDP มากที่สุด ยังมีความเปราะบาง สะท้อนจากยอดการซื้อรถยนต์ในประเทศที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้นนโยบายการคลังเยอรมนีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจยังมีความสำคัญต่อเนื่องทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรป จะขยายตัวร้อยละ 1.0 ในปี 53

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ