ยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมส่วนบุคคลของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 9, 2010 14:00 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลัง ประจำกรุงวอชิงตัน ขอรายงานยอดรายได้ การใช้จ่าย และการออมของสหรัฐฯ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งจัดทำโดยสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (Bureau of Economic Analysis - BEA) ภายใต้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ดังนี้

1. รายได้ส่วนบุคคล (Personal Income) ของสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้ามากนัก โดยขยายตัวเพียง 1.2 พันล้านเหรียญสรอ.หรือต่ำกว่าร้อยละ 0.1 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ 30.4 พันล้านเหรียญ สรอ.หรือร้อยละ 0.3 ในเดือนมกราคมโดยระดับรายได้และเงินเดือนภาคเอกชนซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของรายได้ส่วนบุคคล คงตัวอยู่ที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า หลังจากปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ในเดือนมกราคม 2553

2. รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ (Disposable Personal Income - DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมในเดือนกุมภาพันธ์ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้ามากนัก โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.6 พันล้านเหรียญสรอ. หรือต่ำกว่าร้อยละ 0.1 หลังจากปรับตัวลดลง 26 พันล้านเหรียญสรอ. หรือร้อยละ 0.2 ในเดือนมกราคม

3. รายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริง (Real Disposable Personal Income - Real DPI) หรือรายได้สุทธิหลังหักภาษีและเงินเฟ้อที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือการออมได้จริงคงตัวที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า เปรียบเทียบกับอัตราการชะลอตัวที่ร้อยละ 0.4 ในเดือนมกราคม

4. ยอดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคอุปโภคส่วนบุคคลที่แท้จริง (Real Personal Consumption Expenditures Z Real PCE) ขยายตัวร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับการขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าคงทน (Durable Goods) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ชะลอตัวร้อยละ 0.2 เปรียบเทียบกับอัตราการชะลอตัวที่ร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายด้านสินค้าไม่คงทน (Non-Durable Goods) ขยายตัวร้อยละ 0.9 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.7 ในเดือนก่อนหน้า ส่วนปริมาณการใช้จ่ายด้านบริการขยายตัวร้อยละ 0.3 เปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 ในเดือนมกราคม

5. ระดับราคา (PCE Price Index) ซึ่งวัดโดยดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลคงตัวที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้า หลังจากขยับตัวสูงขึ้นร้อยละ 0.2 ในเดือนมกราคม ส่วนดัชนีราคาของการใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ไม่รวมสินค้าอาหารและน้ำมันในเดือนกุมภาพันธ์คงตัวที่ระดับเดียวกันกับเดือนก่อนหน้าเช่นกัน

6. การออมส่วนบุคคล (Personal Saving) ที่คิดเป็นสัดส่วนจากรายได้ส่วนบุคคลที่สามารถนำไปใช้จ่ายได้จริงปรับลดลงจากร้อยละ 3.4 ในเดือนมกราคม 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ในเดือนกุมภาพันธ์

รายละเอียดข้างต้น สามารถสรุปได้ดังตารางต่อไปนี้

                              Average Growth      January     February
                              last 12 months        2010        2010
          Personal Income           0.2%            0.3%        0.0%
          Real DPI                  0.1%           -0.4%        0.0%
          Real PCE                  0.1%            0.2%        0.3%
          PCE Price                 0.1%            0.2%        0.0%
          Personal Saving Rate      4.1%            3.4%        3.1%
          ที่มา: สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (www.bea.gov)

          การขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ของปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งนับเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยบวกที่จะส่งเสริมให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในขณะที่ระดับรายได้ส่วนบุคคลคงตัว ประกอบกับอัตราการจ้างงานที่ยังคงอ่อนตัวนั้น อาจกดดันให้ปริมาณการใช้จ่ายของผู้บริโภคขยายตัวในอัตราไม่สูงพอที่จะส่งเสริมให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ ทั้งนี้ ระดับรายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุหิมะซึ่งนอกจากจะส่งผลให้รายได้ของลูกจ้างชั่วคราวที่รับค่าจ้างเป็นรายชั่วโมงปรับลดลงอย่างเห็นได้ชัดแล้ว ยังเป็นสาเหตุให้อัตราการจ้างงานอ่อนตัวอีกด้วย อนึ่ง ปริมาณการจ้างงานเพิ่มเติมกว่า 1.2 ล้านตำแหน่ง ภายใต้โครงการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ในเดือนมีนาคม น่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ระดับรายได้ส่วนบุคคลกระเตื้องขึ้นชั่วคราวในช่วงสองถึงสามเดือนข้างหน้า


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ