รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2010 10:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 เม.ย. 2553

Summary:

1. เที่ยวบินช่วงสงกรานต์ลด 4.1% มรสุมการเมืองป่วนนักท่องเที่ยว

2. ความไม่สงบทางการเมืองอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงถึงร้อยละ 1

3. จีนขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี

Highlight:
1. เที่ยวบินช่วงสงกรานต์ลด 4.1% มรสุมการเมืองป่วนนักท่องเที่ยว
  • บริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เปิดเผยถึง ปริมาณเที่ยวบินในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีงบประมาณนี้ (ต.ค. 52 - มี.ค. 53) ว่า มีจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว และรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่วนปริมาณเที่ยวบินในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ได้มีสายการบินขอเพิ่มเที่ยวบิน โดยเฉพาะไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลน์ และไชน่า เซาเทิร์น แอร์ไลน์ อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นนี้ ยังถือว่ามีสัดส่วนลดลงจากปีก่อนประมาณร้อยละ 4.1 เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาสถานการณ์การเมือง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 52 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวเพียงร้อยละ -3.0 ต่อปี เป็นการหดตัวน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ จากสถานการณ์การท่องเที่ยวฟื้นตัวเร่งขึ้นในไตรมาส 4 ปี 52 โดยขยายตัวร้อยละ 27.8 ต่อปี ส่งผลต่อเนื่องมาในไตรมาส 1 ปี 53 โดย นักท่องเที่ยวในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 36.1 ต่อปี ผลจากนักท่องเที่ยวชาวเอเชียที่ขยายตังสูงถึงร้อยละ 50.5 ต่อปี ทั้งนี้ ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองไม่ปกติ ล่าสุดมี 7 ประเทศที่ออกคำเตือนระดับ 5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด ซึ่งส่งผลต่อการท่องเที่ยวของไทย จากสถานการณ์ความไม่สงบในปัจจุบัน สศค.ได้ประเมินว่า นักท่องเที่ยวในปีนี้จะลดลงประมาณร้อยละ 20 จากกรณีฐาน ซึ่งจะส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวจะหายไปถึง 20,800 ล้านบาท จากกรณีฐาน
2. ความไม่สงบทางการเมืองอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงถึงร้อยละ 1
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เผยว่า จากเหตุการณ์ปะทะกันเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทำให้บรรยากาศการลงทุนของไทยลดลงและส่งผลกระทบต่อภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจบริการ ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบพบว่า ธุรกิจท่องเที่ยว บริการ ร้านอาหาร โรงแรม และห้างสรรพสินค้าสูญเสียรายได้กว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยลดลงถึงร้อยละ 1 จากที่ทางรัฐบาลตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ในปีนี้ ขณะที่ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธ.กรุงเทพ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะลดลงร้อยละ 0.5 — 1.0 ต่อปี จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นหากคิดจาก GDP ที่ 9 ล้านล้านบาท ก็จะหายไป 4.5 — 9 หมื่นล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของภาคบริการ หรือประมาณร้อยละ 6.5 ของ GDP ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในกรณีที่เกิดความรุนแรง จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงร้อยละ -0.5 ต่อปี จากกรณีฐานที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี โดยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงต่อเนื่องถึงไตรมาส 2 และจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงร้อยละ 1.17 ต่อปี จากกรณีฐาน ตามการจับจ่ายใช้สอยที่ลดลง รวมทั้งอาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงถึงร้อยละ 2.55 ต่อปี จากกรณีฐาน ในขณะที่กรณีรุนแรงมากอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะลดลงถึงร้อยละ 1.8 ต่อปี จากกรณีฐาน ซึ่งจะทำให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลดลงร้อยละ -2.47 ต่อปี จากกรณีฐาน และอาจทำให้การลงทุนภาคเอกชนลดลงถึงร้อยละ 3.9 ต่อปี จากกรณีฐาน อย่างไรก็ตาม หากความไม่สงบยังคงยืดเยื้อ จะส่งผลต่อภาคการผลิต บริการ และการจ้างงานอีกด้วย
3. จีนขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
  • เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา กรมศุลกากรของจีนประกาศตัวเลขขาดดุลการค้าในเดือน มี.ค.53 มูลค่า 7.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุลกว่า 7.61 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับเป็นการขาดดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี (นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 47) โดยมูลค่าการนำเข้าในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวกว่าร้อยละ 66 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันและทองแดง ประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การขาดดุลการค้าดังกล่าวมาจากการขาดดุลระหว่างจีนกับไต้หวัน ญี่ปุ่นและเกาหลีเป็นสำคัญ
  • สศค. วิเคราะห์ว่าการขาดดุลทางการค้าของจีนในเดือน มี.ค. 53 นั้น ยังมิอาจสรุปได้ว่าจีนจะมีผลขาดดุลการค้าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี เนื่องจากจีนยังคงเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของสินค้าจีน อย่างไรก็ตามจากการที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายประเมินว่า ในระยะอันใกล้ทางการจีนจะดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คาดว่าในอนาคต การเกินดุลการค้าของจีนจะมีมูลค่าลดลงตามไปด้วย

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ