Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 เม.ย. 2553
Summary:
1. เซเว่นฯ คึกเม.ย.ยอดพุ่ง ม็อบทำค้าปลีกรวมฟุบ
2. สศก.ชี้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมี.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.5
3. จับตาหนี้ชาติร่ำรวยพุ่ง ส่อวิกฤติสินเชื่อรอบใหม่
Highlight:
1. เซเว่นฯคึกเม.ย.ยอดพุ่ง ม็อบทำค้าปลีกรวมฟุบ
- นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ และนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการค้าปลีกทุนไทย เปิดเผยว่า ยอดขายของบริษัทในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาเติบโตกว่าช่วงปกติร้อยละ 30 — 40 โดยเฉพาะสาขาที่อยู่ในปั๊มน้ำมัน รวมถึงสาขาในจังหวัดท่องเที่ยว ทั้งนี้ จากความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการปิดแยกราชประสงค์ ได้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมธุรกิจค้าปลีกอย่างมาก จึงคาดว่าจะส่งผลกระทบให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกในไตรมาสแรกเติบโตลดลงเหลือร้อยละ 5 จากปกติจะเติบโตสูงถึงร้อยละ 15 จากมูลค่า 1.4 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ทางการเมืองจบลงได้ภายในเดือนเม.ย.นี้ อาจจะส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจค้าปลีกเติบโตได้ที่ร้อยละ 10 ในปีนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านค้าปลีก สามารถนำข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่เก็บบนฐานการบริโภคภายในประเทศ มาใช้เป็นเครื่องชี้ได้ ซึ่งล่าสุดในเดือนมี.ค. ขยายตัวร้อยละ 15.9 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 12.8 ต่อปี ส่งผลให้ในไตรมาส 1 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาส 4 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี ชี้ให้เห็นถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม หากการชุมนุมยืดเยื้อไปจนจบไตรมาส 2 และไม่รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จะทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนลดลง 30,600 ล้านบาท ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ 0.2 ต่อปี จากกรณีฐาน
2. สศก.ชี้ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเดือนมี.ค.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.5
- เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ที่ไร่นา เดือน มี.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 19.48 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกร ไก่เนื้อ และไข่ไก่ แต่เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.55 สินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวลดลง ได้แก่ ข้าวเป็นสำคัญ เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปรังออกสู่ตลาดมากในของก่อนหน้า ประกอบกับความต้องการซื้อของตลาดลดลง ในขณะที่ดัชนีผลผลิตหดตัวลงร้อยละ 0.22 สินค้าสำคัญที่ผลผลิตลดลง ได้แก่ ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สุกร และไข่ไก่
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจภาคการเกษตรในเดือนมี.ค.53 ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ว่าดัชนีผลผลิตจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามสภาพภูมิอากาศไม่ค่อยเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว แต่จากการที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องได้ส่งผลให้รายได้เกษตรกรให้ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในเดือนมี.ค.53 รายได้เกษตรกรขยายตัวที่ร้อยละ 19.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ซึ่งได้ส่งดีต่อการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะในภาคชนบท(ระบบฐานราก) สะท้อนได้จากยอดขายรถจักรยานยนต์ในเดือนมี.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี
3. จับตาหนี้ชาติร่ำรวยพุ่ง ส่อวิกฤติสินเชื่อรอบใหม่
- ปัญหาหนี้สาธารณะได้กลับมาเป็นประเด็นน่ากังวลอีกครั้ง เมื่อล่าสุด มูดี้ส์ได้ประกาศปรับลดเรทติ้งตราสารหนี้ของประเทศกรีซลงจาก A2 เป็น A3 (23 เม.ย. 53) ส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมของประเทศกรีซจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 8.79 สูงที่สุดในรอบ 12 ปี ประกอบกับรายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟระบุว่า หนี้รัฐบาลของกลุ่มประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มขยายตัวเร็ว และกำลังเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพภาคการเงินของโลก และอาจเป็นต้นตอจุดวิกฤติสินเชื่อโลกรอบที่สองได้ หากธนาคารพาณิชย์พากันปรับขึ้นดอกเบี้ยกู้ยืมหรือจำกัดสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลของประเทศที่มีปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง นอกจากนี้ ไอเอ็มเอฟยังได้ระบุว่า เป็นไปได้ที่ปัญหาการขาดดุลงบประมาณของประเทศที่ร่ำรวย เช่น สเปน อิตาลี อังกฤษ ญี่ปุ่น และกรีซ จะขยายวงไปสู่ระบบการเงินของหลายประเทศทั่วโลก
- สศค.วิเคราะห์ว่า ปัญหานี้สาธารณะของประเทศร่ำรวยในช่วงที่ผ่านมานั้น มีสาเหตุสำคัญจากการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศและบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลให้หนี้สาธารณะมีระดับสูงขึ้น ทั้งนี้ มูดีส์ อินเวสเตอร์ เคยคาดการณ์ไว้ว่า ในระหว่างปี 2550-2553 หนี้สาธารณะของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะขยายตัวกว่าร้อยละ 45 หรือกว่า 49 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าปัญหาหนี้สาธารณะจะมีแนวโน้มทุเลาลง เมื่อประเทศต่างๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแม้จะมิใช่ในเร็ววันนี้
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th