รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2010 11:26 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • รายได้รัฐบาลสุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือนมี.ค.53 จัดเก็บได้ 116.3 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ (หักอัตราเงินเฟ้อ) ในเดือน มี.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 41,146 ล้านบาท หรือขยายตัวที่ร้อยละ 27.6 ต่อปี จากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 37,936 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 26.8 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือนมี.ค. 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.5 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.6 ต่อปี
  • ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.0 ต่อปี
  • อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4
  • มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 40.9 ต่อปี ในขณะที่ มูลค่านำ เข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 59.7 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าในเดือน มี.ค. 53 เกินดุลที่ 1,154.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Indicators next week
   Indicators                      Forecast           Previous
Mar: Tourist Arrival (mn persons)     1.5               1.6
          %yoy                       19.2              44.3
  • เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวการชุมนุมช่วงปลายเดือน ส่งผลกระทบด้านลบต่อจิตวิทยาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ
Mar: MPI (%yoy)                      30.0              31.1
  • เนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ยอดคำ สั่งซื้อสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีการเร่งการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการจากต่างประเทศ
Economic Indicators: This Week

รายได้รัฐบาลสุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน มี.ค.53 จัดเก็บได้ 116.3 พันล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 21.3 พันล้านบาทหรือร้อยละ 22.4 และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.8 ซึ่งผลการจัดเก็บรายได้ที่สูงกว่าเป้าหมายในเดือน มี.ค. 53 มีสาเหตุสำคัญจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีสรรพสามิตรน้ำ มัน ที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายจำ นวน 9.67 พันล้านบาท 5.62 พันล้านบาท และ 6.25 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ รายได้ภาษีจาก 3 กรมจัดเก็บในเดือนมี.ค. 53 เท่ากับ 141.01 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 20.1 ต่อปีสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยภาษีฐานรายได้และภาษีฐานการบริโภค ขยายตัวที่ร้อยละ 12.8 ต่อปี และร้อยละ 30.7 ต่อปี ตามลำดับส่งผลให้รายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาลในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ต.ค.52 - มี.ค.53) เท่ากับ 675.5 พันล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 128.9 พันล้านบาท

ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ (หักอัตราเงินเฟ้อ) ในเดือนมี.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 41,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 37,936 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวที่ร้อยละ 27.6 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 26.8 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) ปัจจัยฐานต่ำเมื่อปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และ 2) รายได้ภาคชนบทปรับตัวดีขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ในไตรมาสแรกของปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 22.2 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ต่อปี แต่อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่มีความตึงเครียดมากขึ้น จนทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเชื่อมั่นและการพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนโดยเฉพาะประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในระยะต่อไป

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 97.5 ต่อปี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.6 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาสแรกของปี 53 ขยายตัวร้อยละ 63.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันเนื่องจากผลของการคาดว่ามาตรการลด หย่อนภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในช่วงปลายเดือน มี.ค.53 จึงได้มีการเร่งทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการขยายตัวของภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ยังสะท้อนถึงการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างเช่นกัน

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน มี.ค. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 26.0 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และ 2) ภาครัฐปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำทั่วประเทศ โดยมีผลตั้งแต่เดือน ม.ค.53 เป็นต้นมา ส่งผลให้ภาคครัวเรือนยังคงมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในไตรมาสที่ 1 ปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 31.7 ต่อปี เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ต่อปี

การจ้างงานเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.3 แสนคนจากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.5 ต่อปี อันเป็นผลจากการจ้างงานในสาขาค้าส่งค้าปลีก และสาขาโรงแรมและภัตตาคารที่เพิ่มขึ้นมากจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 3.2 และ 3.0 แสนคน ตามลำดับ โดยทั้ง 2 สาขาดังกล่าวได้รับปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้ประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นทั้งนี้หากปรับค่าการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลแล้วพบว่า การจ้างงานเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.4 แสนคน หรือร้อยละ 0.9 จากเดือนก่อน สะท้อนถึงการฟื้นตัวของการจ้างงานที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

อัตราการว่างงานเดือน ก.พ. 53 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 3.8 แสนคน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 หรือผู้ว่างงานจำนวน 5.3 แสนคน อันเป็นผลจากจำนวนผู้ว่างงานในภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรมที่ลดลงอย่างมาก โดยเมื่อปรับค่าการเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาลแล้วพบว่า จำนวนผู้ว่างงานภาคการผลิตลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2.8 หมืนคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้นและก่อให้เกิดการจ้างงานในภาคการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ว่างงานภาคเกษตรกรรมลดลง 5.9 พันคนจากเดือนก่อน

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมี.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 40.9 ต่อปี เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.1 ต่อปี และถือเป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 19 เดือน โดยเป็นการขยายตัวดีในทุกหมวดสินค้าหลักและหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ทำให้ในไตรมาสแรกของปีมูลค่าการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 31.6 ต่อปี หรือร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในรูปดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมี.ค. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 59.7 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 71.2 ต่อปี หรือร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) แต่หากหักทองและน้ำมันดิบแล้ว จะขยายตัวที่ร้อยละ 56.8 ต่อปี หรือร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่องในหลายหมวดสินค้า ตามอุปสงค์ในประเทศโดยเฉพาะภาคการผลิตที่เริ่มฟื้นตัวและมีการ Restock สินค้า ทำให้ในไตรมาสแรกของปี 53 มูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 58.1 ต่อปี หรือร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ดุลการค้าในเดือนมี.ค. 53 เกินดุลที่ 1,154.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐผลจากมูลค่าส่งออกที่สูงกว่ามูลค่านำเข้าสินค้า ทำให้ในไตรมาสแรกของปี ดุลการค้าเกินดุลที่ 2,110.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน มี.ค.53 อยู่ที่ระดับ 101.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 114.5 ในเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากการปรับลดลงของยอดคำ สั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่ยืดเยื้อและความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง นอกจากนี้ ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ยังส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น สับปะรด มันสำปะหลัง และสมุนไพร ซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีวัตถุดิบในการผลิตลดลง

Economic Indicators: Next Week

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศในเดือนมี.ค. 53 คาดว่าจะมีจำนวน 1.47 ล้านคน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 19.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 44.5 ต่อปี ส่วนหนึ่งเนื่องจาก เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของการชุมนุมช่วงปลายเดือน ที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อจิตวิทยาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงน่าจะมาจากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก(สัดส่วนร้อยละ 22.2 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) เนื่องจากมีความอ่อนไหวจากสถานการณ์ต่างๆ สูง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน มี.ค. 53 คาดว่าจะยังคงขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 31.0 ต่อปี ใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 31.1 ต่อปี โดยคาดว่าจะเป็นผลจากปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทำให้ยอดคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูง และส่งผลให้มีการเร่งการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มได้รับปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่สามารถหาข้อยุติ จนคาดว่าอาจจะส่งผลให้ยอดขายสินค้าภายในประเทศลดลง และจะทำให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลง

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ