รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 เมษายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 27, 2010 10:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 เม.ย. 2553

Summary:

1. ครม.เศรษฐกิจ สรุปความเสียหายจากม็อบ 5 หมื่นล้านบาท เตรียมเข็น 3 มาตรการเยี่ยวยา

2. BOI เผย ยอด FDI ไตรมาสแรกปี 2553 ยังขยายตัวดี โดยญี่ปุ่นครองแชมป์

3. จีนหนุนชาติพัฒนาแล้วปรับโครงสร้างการเงินรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ

Highlight:
1. ครม.เศรษฐกิจ สรุปความเสียหายจากม็อบ 5 หมื่นล้านบาท เตรียมเข็น 3 มาตรการเยี่ยวยา
  • คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม. เศรษฐกิจ) ได้ประเมินผลกระทบจากการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหากการชุมนุมยืดเยื้อไม่เกิน 3 เดือน จะกระทบต่อ GDP ประมาณร้อยละ 0.64 หรือคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นชอบในหลักการมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ โดย 3 มาตรการสำคัญ คือการบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง การช่วยเหลือพนักงาน-ลูกจ้าง และการช่วยเหลือรายได้ของกิจการ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การชุมนุมของกลุ่มนปช.นั้น จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางสำคัญ คือ 1) ช่องทางความเชื่อมั่น ทั้งของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ 2) ช่องทางด้านอุปทาน โดยเฉพาะสาขาค้าส่งค้าปลีกและบริการด้านโรงแรม และ 3) ช่องทางด้านอุปสงค์ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนและรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า หากการชุมนุมยืดเยื้อและรุนแรงมากจนถึงสิ้นปี อาจส่งผลให้GDPของไทยปี 53 ลดลงร้อยละ -1.8 ต่อปี เหลือเพียงร้อยละ 2.7 ต่อปี จากกรณีฐานที่ประมาณการว่า GDPปี 53 จะเติบโตที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 53)
2. BOI เผย ยอด FDI ไตรมาสแรกปี 2553 ยังขยายตัวดี โดยญี่ปุ่นครองแชมป์
  • สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอเผย การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ช่วงไตรมาสแรกปี 2553 พบว่า นักลงทุนต่างชาติยังคงแสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเป็นอย่างดี พร้อมระบุญี่ปุ่นครองแชมป์ โดยมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้าน ทั้งนี้ ในไตรมาสแรกปีนี้มีโครงการลงทุนจากต่างประเทศยื่นขอรับส่งเสริมจำนวน 184 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนมูลค่าเงินลงทุนของโครงการจากต่างประเทศก็ขยายตัวถึงร้อยละ 137 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวม 44,399 ล้านบาท อนึ่ง ญี่ปุ่นยังคงเป็นนักลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด มีจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริม 66 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 21,565 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 145 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยโครงการขนาดใหญ่ที่ญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน ได้แก่ กิจการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ และกิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ยื่นขอส่งเสริมทั้งหมด 184 โครงการนั้นเป็นโครงการลงทุนใหม่ 94 โครงการ และขยายการลงทุนเพิ่ม 90 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนที่มาจากโครงการลงทุนใหม่อยู่ที่ 19,710 ล้านบาทและเงินทุนจากโครงการขยายกิจการ 24,688 ล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งนักลงทุนต่างชาติรายเดิมและนักลงทุนต่างชาติรายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนในไทย ยังคงเชื่อมั่นในศักยภาพแหล่งน่าลงทุนของไทย ทั้งนี้ BOI คาดว่าโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมในไตรมาส 1/2553 จะก่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเป็นแรงงานไทย 31,980 คน และแรงงานต่างชาติ 480 คน
3. จีนหนุนชาติพัฒนาแล้วปรับโครงสร้างการเงินรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ
  • นายโจว เสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน ขอให้ประเทศพัฒนาแล้วฟื้นฟูสถานภาพทางการเงินและเร่งปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตการเงินขึ้นมาอีกในอนาคต รวมทั้งเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากความเสี่ยงเบื้องต้นที่มีต่อเศรษฐกิจโลกนั้นมาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงได้กลายมาเป็นปัจจัยคุมคามเสถียรภาพการเงินโลก สำหรับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่นั้น ผู้ว่าการธนาคารกลางจีนกล่าวว่า ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินนโยบายเพื่อรับประกันความสมดุลในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่ด้านสินทรัพย์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แถลงการณ์ของผู้ว่าการธนาคารกลางจีน สอดคล้องกับความกังวลของทั่วโลกต่อสถานการณ์หนี้สาธารณะในประเทศพัฒนาแล้วที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้ของประเทศเหล่านั้นได้ในอนาคต หากประเทศดังกล่าวไม่มีการบริหารจัดการงบประมาณและระดับการก่อหนี้ที่เหมาะสม ดังเช่นในกรณีของรัฐดูไบและประเทศกรีซ ทั้งนี้ ล่าสุดไอเอ็มเอฟได้ระบุในรายงานเมือวันที่ 20 เม.ย. 53 ว่า หนี้รัฐบาลของกลุ่มประเทศร่ำรวยมีแนวโน้มขยายตัวเร็ว และกำลังเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพภาคการเงินของโลก ซึ่งอาจเป็นต้นตอจุดวิกฤติสินเชื่อโลกรอบที่สองได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ