บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง จากอุปทานสู่อุปสงค์: ปลายทางสินค้าอุตสาหกรรมไทยอยู่หนใด

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 27, 2010 11:52 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร

o การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาคอุปทาน มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับภาคอุปสงค์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกหรือผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศก็ตาม หากทั้งสองฝั่งของเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์สูง เราจะสามารถใช้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของฝั่งหนึ่งมาทำนายแนวโน้มของอีกฝั่งหนึ่งได้

o สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อเน้นการส่งออกนั้น พบว่า ปลายทางส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย และเราสามารถใช้เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมของต่างประเทศ อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ และดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม มาเป็นเครื่องมือทำนายแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศได้

o ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทั้งภายนอกและภายในประเทศ พบว่า สินค้ากลุ่มนี้กระจายไปหลายภูมิภาคและสามารถใช้เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมของต่างประเทศ และยอดจำหน่ายภายในประเทศ มาเป็นเครื่องชี้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทั้ง 2 ตลาดได้

o ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหมวดที่เน้นการบริโภคภายในประเทศนั้น เนื่องจากการรายงานตัวเลขยอดขายภายในประเทศจะออกล่าช้า 2 เดือน จึงต้องใช้ประโยชน์กลับด้านกัน คือ ใช้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาทำนายยอดขายสินค้า ทำนายการบริโภค และทำนายการจัดเก็บภาษี

o ความสัมพันธ์ทั้งสองด้านดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีความสำคัญในการวิเคราะห์และคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์ได้ ซึ่งจะช่วยให้การคาดการณ์เศรษฐกิจมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น

1. ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญในการชี้นำภาวะเศรษฐกิจไทย

o ในไตรมาส 4/52 GDP เติบโตถึงร้อยละ 5.8 ต่อปี ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคอุตสาหกรรมคือเครื่องจักรหลักในการฟื้นตัว ถัดมาคือคมนาคมขนส่งสื่อสาร และโรงแรมและภัตตาคาร (พิจารณาจากแหล่งที่มาของการเติบโต)

  • ในด้านโครงสร้าง พบว่า เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานในปี 2552 ประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 41.2 ของ/ GDP ภาคการเกษตรร้อยละ 8.9 ของ GDP และภาคบริการ 12 สาขารวมกันเป็นร้อยละ 49.9 ของGDP บริการสำคัญ ได้แก่ ค้าส่งค้าปลีก (สัดส่วนร้อยละ 13.7) คมนาคมขนส่งสื่อสาร (สัดส่วนร้อยละ 9.9) โรงแรมและภัตตาคาร (สัดส่วนร้อยละ3.7) เป็นต้น ส่วนในด้านอัตราการเติบโต พบว่า ในไตรมาส 4/52ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 9.9 ต่อปี (ไตรมาส 3/52 ยังหดตัวร้อยละ -5.9 ต่อปี) ภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ -2.2 ต่อปี (ไตรมาส 3/52หดตัวร้อยละ -1.5 ต่อปี) ในขณะที่ภาคบริการทั้ง 12 สาขานั้น ตัวที่โดดเด่นมากเป็นพิเศษคือ ภาคโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวถึงร้อยละ 13.5 ต่อปี(ไตรมาส 3/52 ยังหดตัวร้อยละ -2.5 ต่อปี)
  • เมื่อนำมาคำนวณหาแหล่งที่มาของการเติบโตที่ร้อยละ 5.8 ต่อปีพบว่า มาจากอุตสาหกรรม คมนาคมขนส่งสื่อสาร และโรงแรมและภัตตาคาร เป็นสำคัญ
  • ส่วนเศรษฐกิจไทยทางด้านอุปสงค์ ประกอบด้วยการบริโภคภาคเอกชนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 52.7 ของ GDP การลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนร้อยละ 14.9 ของ GDP การใช้จ่ายภาครัฐมีสัดส่วนร้อยละ 15.6 ของ GDP การส่งออกและนำเข้าสุทธิร้อยละ 18.4 ของ GDP ซึ่งประกอบด้วยการส่งออกสินค้าและบริการร้อยละ 64.7 ของ GDP และการนำเข้าสินค้าและบริการร้อยละ 46.3 ของ GDP ส่วนในด้านอัตราการเติบโต จะพบว่า ในไตรมาส4/52 ตัวที่ขยายตัวได้โดดเด่นจนส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวด้านบวกได้ คือ การส่งออกสินค้าและบริการ ที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ต่อปี(ไตรมาส 3/52 หดตัวถึงร้อยละ -14.8 ต่อปี)
  • เมื่อนำมาคำนวณหาแหล่งที่มาของการเติบโตที่ร้อยละ 5.8 ต่อปี พบว่ามาจากการส่งออกสินค้าสุทธิและการส่งออกบริการสุทธิ เป็นสำคัญ

o ประเด็นที่น่าสนใจในด้านอุปทาน คือ อุตสาหกรรมหมวดยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเร็วมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

  • สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยผูกโยงกับอุตสาหกรรมหลัก 2 หมวดนี้อย่างมาก โดยในปี 2552 มีสัดส่วนรวมกัน 23.6 ของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด ในขณะที่ปี 2543 มีสัดส่วนรวมกันเพียง 11.7 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด
  • เมื่อนำภาพที่ 2 มาผนวกกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตแฮมเบอเกอร์ที่ผ่านมา ทำให้เราตั้งสมมติฐานได้ว่า 1) การที่เราผูกโยงกับอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอยด้านการผลิตทั่วโลกนั้น ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านการส่งออกที่หดตัวลงรุนแรง เศรษฐกิจไทยโดยรวมจึงหดตัวรุนแรงตามไปด้วย และ 2)อุตสาหกรรมอื่นๆ ที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ จะได้รับผลกระทบในระลอกที่ 2 หลังจากที่เศรษฐกิจโดยรวมหดตัวผ่านการบริโภค การลงทุน และการผลิตที่หดตัวลง

o อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้า การบริโภค และการลงทุน มีความเกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะเมื่อมีความต้องการใช้สินค้าเพื่อบริโภค เพื่อเป็นปัจจัยการผลิต และเพื่อส่งออก จึงเกิดการผลิตสินค้าเพื่อสนองความต้องการในด้านต่างๆ เหล่านั้น หากเราสามารถวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ในเชิงลึก เราจะสามารถคาดการณ์เศรษฐกิจด้านอุปสงค์ได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน หรือคาดการณ์เศรษฐกิจด้านอุปทานได้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปสงค์

2. ปลายทางของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม คือ ส่งออกหรือขายในประเทศ

จากโครงสร้างเศรษฐกิจเราพบว่าในด้านอุปทาน ภาคอุตสาหกรรมมีขนาดใหญ่สุด เครื่องชี้ที่ใช้อธิบายสถานการณ์เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่ดีที่สุดคือ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index; MPI) ส่วนในด้านอุปสงค์ ภาคการส่งออกสินค้ามีขนาดใหญ่ที่สุด เครื่องชี้ที่ใช้อธิบายได้โดยตรงคือ มูลค่าการส่งออกสินค้า เมื่อนำข้อมูล MPI ทั้งโดยรวมและรายอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2552 มาหาว่ามีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญ หรือไม่อย่างไร กับมูลค่าการส่งออกสินค้าและยอดขายภายในประเทศในสินค้าหมวดเดียวกัน โดยหาค่าสหสัมพันธ์ (Correlation)

ตารางที่ 1 ค่าสหสัมพันธ์ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกับมูลค่าการส่งออก และค่าสหสัมพันธ์ของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมกับยอดขายในประเทศ
  สินค้าอุตสาหกรรม             ค่าสหสัมพันธ์ของผลผลิต                    ค่าสหสัมพันธ์ของผลผลิต
                           ภาคอุตสาหกรรมกับมูลค่า                    ภาคอุตสาหกรรมกับ
                                การส่งออก                         ยอดขายในประเทศ
อุตสาหกรรมรวม                     0.8372                        ไม่มีข้อมูลยอดขายในประเทศ
1. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
   คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ         0.7400                        ไม่มีข้อมูลยอดขายในประเทศ
   แผงวงจรไฟฟ้า                   0.8436                        ไม่มีข้อมูลยอดขายในประเทศ
   เครื่องปรับอากาศ                 0.8254                               0.0374
   เม็ดพลาสติก                     0.6862                        ไม่มีข้อมูลยอดขายในประเทศ
2. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทั้งส่งออกและขายภายในประเทศ
   รถยนต์และส่วนประกอบ             0.8621                               0.8951
   วิทยุโทรทัศน์                     0.7118                               0.5992
   เคมีภัณฑ์                        0.5915                               0.6131
   ผลิตภัณฑ์ยาง                     0.8083                               0.7734
3. กลุ่มอุตสาหกรรมที่พึ่งพาภายในประเทศเป็นหลัก
   เบียร์                          0.3900                               0.8745
   เหล็ก                          0.1355                               0.8025
   น้ำมันสำเร็จรูป                   0.3110                               0.6362
   อโลหะ                         0.3561                               0.6601
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารแห่งประเทศไทย คำนวณโดยสศค.


          จากตารางที่ 1 โดยรวมแล้ว การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกับมูลค่าการส่งออกสินค้าสูงถึงร้อยละ 83.7 แต่การศึกษานี้เราสามารถจำแนกสินค้าอุตสาหกรรมออกตามปลายทางที่สินค้าเดินทางไปออกได้เป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มที่ปลายทางอยู่ต่างประเทศประกอบด้วย 4 สินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มที่ปลายทางมีทั้งต่างประเทศและในประเทศประกอบด้วย 4 สินค้าอุตสาหกรรม และกลุ่มที่ปลายทางอยู่ภายในประเทศประกอบด้วย 4 สินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้ง 12 สินค้าอุตสาหกรรมนี้มีสัดส่วนร้อยละ 46.6 และ 36.9 ใน MPI และมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมส่งออก ตามลำดับ

3. สินค้าอุตสาหกรรมที่มีปลายทางอยู่ต่างประเทศ
          - ตลาดสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย
          จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกได้แก่ หมวดคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้าเครื่องปรับอากาศ และเม็ดพลาสติก โดยเราสามารถสรุปประเทศคู่ค้าหลัก 3 อันดับแรกของสินค้าอุตสาหกรรมหมวดดังกล่าวได้ดังนี้


ตารางที่ 2 ตลาดสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก ในปี 2552
สินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก            ตลาดอันดับ 1                ตลาดอันดับ 2               ตลาดอันดับ 3
(ค่าสหสัมพันธ์กับการส่งออก)            (สัดส่วนต่อการส่งออก          (สัดส่วนต่อการส่งออก         (สัดส่วนต่อการส่งออก
                                    รวมในหมวดนั้น)             รวมในหมวดนั้น)              รวมในหมวดนั้น)
คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (0.7400)       จีน (27.0%)            สหรัฐอเมริกา (18.4%)          ฮ่องกง (9.1%)
แผงวงจรไฟฟ้า (0.8436)               ฮ่องกง (19.4%)               ญี่ปุ่น (13.8%)             สิงคโปร์ (13.1%)
เครื่องปรับอากาศ (0.8254)            ออสเตรเลีย (12.2%)            ญี่ปุ่น (8.5%)          สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (7.6%)
เม็ดพลาสติก (0.6862)                   จีน (24.3%)               ฮ่องกง (10.6%)            เวียดนาม (7.6%)
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, คำนวณโดยสศค.


แนวโน้มและทิศทางของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
          จากตารางที่ 2 จะเห็นได้ว่า สินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกแต่ละหมวด มีประเทศคู่ค้าสำคัญที่แตกต่างกันไป แต่จะมีประเทศกลุ่มสำคัญที่เป็นคู่ค้าหลักของสินค้าหลายหมวด อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฮ่องกง ดังนั้นแนวโน้มของอุตสาหกรรมข้างต้น ย่อมเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราจะศึกษาสภาพเศรษฐกิจคร่าวๆ ของเศรษฐกิจดังกล่าว โดยดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม (Purchasing Manager Index: PMI) ของประเทศสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง ซึ่งเป็นเครื่องชี้อันดีของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม นอกจากนั้น จากการศึกษาของ Markit PMI ยังเป็นดัชนีชี้นำ (Leading Indicator) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกด้วย
          จากรูปที่ 3 เราจะเห็นได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 4 ประเทศยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2552 โดยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และฮ่องกงมีการฟื้นตัว2 ในช่วงเดือน กรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2552 ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมจีนเริ่มกลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2552 ถึงแม้การขยายตัวจะเริ่มคงที่และบางครั้งชะลอลงเล็กน้อย แต่ก็ยังนับว่าภาคอุตสาหกรรมของทั้ง 4 ประเทศยังคงมีเสถียรภาพและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบ่งชี้ว่าอุปสงค์ต่อสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่มีปลายทางอยู่ที่ประเทศดังกล่าวยังคงมีอนาคตสดใส

4. อุตสาหกรรมที่มีปลายทางอยู่ในต่างประเทศและภายในประเทศ (พึ่งพาทั้งส่งออกและใช้ในประเทศ)
          - ตลาดสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีปลายทางอยู่ในต่างประเทศและภายในประเทศ พบว่าปลายทางกระจายอยู่ทั้งในเอเชีย สหรัฐฯ และยุโรปจากตารางที่ 1 พบว่า มีสินค้า 2 หมวดที่มีค่าสหสัมพันธ์สูง ทั้งการขายตลาดต่างประเทศและขายภายในประเทศ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ วิทยุโทรทัศน์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ยาง จึงสรุปได้ว่า สินค้าทั้ง 4 รายการนี้ มีการกระจายตลาดค่อนข้างดี ซึ่งน่าจะเป็นสินค้าที่สามารถทำกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงได้มากที่สุด เนื่องจากหากตลาดต่างประเทศลดอุปสงค์ลงก็ยังสามารถกระจายตลาดโดยเน้นการขายภายในประเทศเพื่อเติมเต็มส่วนที่ขาดได้


ตารางที่ 3 ตลาดสำคัญของสินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกและการขายภายในประเทศ ในปี 2552
สินค้าอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออก          ตลาดอันดับ 1          ตลาดอันดับ 2            ตลาดอันดับ 3
(ค่าสหสัมพันธ์กับการส่งออก)         (สัดส่วนต่อการส่งออก      (สัดส่วนต่อการส่งออก      (สัดส่วนต่อการส่งออก
                                 รวมในหมวดนั้น)         รวมในหมวดนั้น)           รวมในหมวดนั้น)
รถยนต์และส่วนประกอบ (0.8621)    ออสเตรเลีย (19.3%)     ซาอุดิอาระเบีย (8.0%)     อินโดนีเซีย (7.7%)
วิทยุ โทรทัศน์ (0.7118)           สหรัฐอเมริกา (21.3%)    สาธารณรัฐเช็ก (10.7%)       ญี่ปุ่น (7.2%)
เคมีภัณฑ์ (0.5915)                  จีน (30.4%)          อินโดนีเซีย (7.4%)          อินเดีย (6.5%)
ผลิตภัณฑ์ยาง (0.8083)            สหรัฐอเมริกา (19.3%)        จีน (17.5%)            ญี่ปุ่น (7.1%)
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์, คำนวณโดยสศค.


          สำหรับประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นตลาดที่สำคัญที่สุดสำหรับรถยนต์ไทยนั้น ไม่มีการจัดทำดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรม แต่เราสามารถสังเกตแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรมได้จากดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม (Performance on Manufacturing Index) ที่จัดทำโดย The Australian Industry Group และบริษัท PricewaterhouseCoopers ซึ่งมีการจัดทำที่คล้ายคลึงกับดัชนี PMI ของประเทศอื่นๆ และมีการตีความที่คล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ดัชนีที่อยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม
          ภาคอุตสาหกรรมของออสเตรเลียเริ่มกลับมาขยายตัวแล้ว ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 3 ของปี 2552 และมีการหดตัวบ้างในเดือนธันวาคม 2552 เนื่องจากเทศกาลวันหยุดทำให้จำนวนวันทำการน้อยกว่าเดือนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมกราคม 2553 ภาคอุตสาหกรรมออสเตรเลียกลับมาขยายตัวอีกครั้งในระดับที่ใกล้เคียงกับระดับก่อนภาวะวิกฤตแล้ว บ่งชี้ว่าอุปสงค์ออสเตรเลียต่อสินค้าอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศและรถยนต์และส่วนประกอบน่าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

4. อุตสาหกรรมที่มีปลายทางอยู่ในประเทศ
          จากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศ ได้แก่ เบียร์ เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป และอโลหะมีทิศทางเดียวกันกับยอดขายภายในประเทศ ซึ่งสามารถแสดงในรูปแบบของตารางได้ ดังนี้


ตารางที่ 4 หมวดอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศและค่าสหสัมพันธ์กับยอดขายภายในประเทศ
          อุตสาหกรรม           ค่าสหสัมพันธ์          การนำไปเป็นตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ
          เบียร์                  0.8745           การบริโภค ภาษีเบียร์
          เหล็ก                  0.8025           การลงทุนก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์
          น้ำมันสำเร็จรูป           0.6362           การบริโภค ภาษีน้ำมัน
          อโลหะ หรือ ปูนซิเมนต์     0.6601           การลงทุนก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย, กรมธุรกิจพลังงาน, คำนวณโดยสศค.


          จากตารางที่ 4 จะพบว่าการผลิตเบียร์ เหล็ก น้ำมันสำเร็จรูป และปูนซิเมนต์ เป็นไปในทิศทางเดียวกับยอดขายภายในประเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่า การผลิตของ 4 อุตสาหกรรมข้างต้น เป็นการผลิตเพื่อเน้นในการใช้บริโภคภายในประเทศ จากข้อมูลดังกล่าว ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสามารถนำไปใช้ในการคาดการณ์การบริโภค การลงทุนก่อสร้าง และการจัดเก็บภาษีได้ดี
          สำหรับ 3 อุตสาหกรรมที่การศึกษานี้พยายามอธิบาย คือ อัญมณีและเครื่องประดับ และอาหาร มีความสัมพันธ์แตกต่างจากอุตสาหกรรมอื่น แต่ยังคงมีความสัมพันธ์กับการส่งออกให้เห็นบ้างในบางช่วงเวลาโดยอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หากเปลี่ยนช่วงเวลามาใช้ปี 2552 ในการคำนวณ พบว่า การผลิตและการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมีค่าสหสัมพันธ์อยู่ที่ 0.7633 จากเดิมที่คำนวณตลอดช่วงที่ศึกษาพบว่ามีค่าสหสัมพันธ์อยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากราคาและความต้องการมีความผันผวน
          สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร พบว่า หากเปลี่ยนช่วงเวลาเป็นการผลิตในเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือน พฤษภาคม 2552 ส่วนการส่งออกใช้ช่วงเดือนสิงหาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2552 พบว่า ค่าสหสัมพันธ์อยู่ที่ 0.6314 สามารถอธิบายได้ว่า การผลิตในเดือนที่ 1 สามารถนำไปชี้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในเดือนที่ 8 ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะการเร่งการผลิตสินค้าเกษตรจำพวกผัก ผลไม้ และสินค้าประมงนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่ไม่แน่นอน ได้แก่ ฤดูกาล ราคาสินค้าวัตถุดิบ ราคาสินค้าที่ขายได้ การเคลื่อนย้ายแรงงานออกไปภาคเกษตร ภัยแล้ง โลกร้อน เป็นต้น

6. สรุป
          o การผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาคอุปทาน มีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับภาคอุปสงค์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกหรือผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศก็ตาม หากทั้งสองฝั่งของเศรษฐกิจมีความสัมพันธ์สูง โดยดูจากค่าสหสัมพันธ์เป็นสำคัญ เราจะสามารถใช้เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของฝั่งหนึ่งมาทำนายแนวโน้มของอีกฝั่งหนึ่งได้
          o สำหรับสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อเน้นการส่งออกนั้น เราสามารถใช้เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมของต่างประเทศ อันได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ และดัชนีผลประกอบการภาคอุตสาหกรรม มาเป็นเครื่องชี้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตลาดต่างประเทศได้
          o ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทั้งภายนอกและภายในประเทศ สามารถใช้เครื่องชี้ภาคอุตสาหกรรมของต่างประเทศและยอดจำหน่ายภายในประเทศ มาเป็นเครื่องชี้แนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทั้ง 2 ตลาดได้
          o ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหมวดที่เน้นการบริโภคภายในประเทศนั้น เนื่องจากการรายงานตัวเลขยอดขายภายในประเทศจะออกล่าช้า 2 เดือน จึงต้องใช้ประโยชน์กลับด้านกัน คือ ใช้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาทำนายยอดขายสินค้าทำนายการบริโภค ทำนายการจัดเก็บภาษี
          o ความสัมพันธ์ทั้งสองด้านดังที่กล่าวมาแล้วนี้ มีความสำคัญในการวิเคราะห์และคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในด้านอุปทานและอุปสงค์ได้ ซึ่งจะช่วยให้การคาดการณ์เศรษฐกิจมีความรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น



          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ