รายงานการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 1 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 6, 2010 11:58 —กระทรวงการคลัง

ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 (ต.ค. 52-ธ.ค. 52) ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 7,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐ1 สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกินดุลบัญชีเงินทุน เนื่องจากภาคธนาคารมีการลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อนำเงินตราต่างประเทศมาขายในประเทศ รวมทั้งภาคธนาคารมีการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น

คาดว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (ม.ค.53-มี.ค. 53) ดุลบัญชีเงินทุนจะเกินดุลในระดับสูงที่ 5,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น การลงทุนในหลักทรัพย์ มีแรงซื้อหลักทรัพย์จากนักลงทุนต่างชาติ ทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ รวมทั้งการลงทุ นอื่น ๆ ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนั้นภาคธนาคารยังคงกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

1. สถานการณ์ดุลบัญชีเงินทุนไตรมาส 4 ปี 2552 (ต.ค. 52-ธ.ค.52)

ดุลบัญชีเงินทุนเกินดุล 2,617 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4,274 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้ดุลการชำระเงินเกินดุล 7,768 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกินดุลบัญชีเงินทุนเกิดจาก 1) ภาคธนาคารมีการลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และเพื่อนำเงินตราต่างประเทศมาขายในประเทศ และ 2) ภาคธนาคารมีการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพิ่มขึ้น

1.1 สถานการณ์การลงทุนโดยตรง ไตรมาส 4 ปี 2552

การลงทุนโดยตรงสุทธิในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่า 353 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงถึงร้อยละ 59.3 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศมีมูลค่า 1,281 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีเงินทุนไหลออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมีมูลค่า 1,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 3.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนโดยกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศ คือ นักลงทุนจากญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ โดยมีมูลค่า 628, 174 และ 159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

1.2 สถานการณ์การลงทุนในหลักทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 2552

การลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีเงินทุนไหลออกมูลค่า 2,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนมีเงินทุนไหลเข้าถึง 4,093 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศมีเงินทุนไหลออก (การซื้อหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยและโอนเงินไปยังต่างประเทศ) มูลค่า 2,054 ล้านดอลลาร์สหรัฐเปลี่ยนแปลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีเงินทุนไหลเข้าถึง 5,887 ล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกมูลค่า 482 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 73.1

การลงทุนในตราสารทุนจากต่างประเทศมีเงินทุนไหลออกมูลค่า 767 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงจากปีก่อน ร้อยละ 38.8 สาเหตุที่มีการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติลดลง เนื่องจากพิ้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งและฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลโดยลดการขายสุทธิ ซึ่งกลุ่มนักลงทุนสำคัญที่มีการลงทุนในประเทศ คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีมูลค่า 665 234 และ 132 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

สำหรับการลงทุนในตราสารหนี้จากต่างประเทศ มีเงินทุนไหลเข้า 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเงินทุนไหลออก 542 ดอลลาร์สหรัฐ

จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า การซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีมูลค่าการขายสุทธิ 16,994 ล้านบาท สาเหตุที่มีการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติความกังวลต่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนถึงการฟื้นตัว และปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในสหภาพยุโรป ประกอบกับช่วงปลายปี ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนและดึงเงินกลับเพื่อรอลงทุนใหม่ในปีหน้า

1.3 สถานการณ์การลงทุนอื่น ๆ ไตรมาส 4 ปี 2552

การลงทุนอื่น ๆ สุทธิไตรมาสที่ 4 ปี 2552 มีเงินทุนไหลเข้าถึง 4,801 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึงร้อยละ 418 โดยภาคธนาคารลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศและนำเงินกลับเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินทุนไหลเข้า 2,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.4 และภาคธนาคารมีการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นทำให้มีเงินทุนไหลเข้าอยู่ที่ระดับ 2,609 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

2. แนวโน้มการเคลื่อนย้ายเงินทุน ไตรมาสที่ 1 ปี 2553 (ม.ค.53-มี.ค.53)

คาดว่าไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ดุลบัญชีเงินทุนจะเกินดุลในระดับสูงที่ 5,396 ล้านดอลลาร์สหรัฐขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนดุลบัญชีเงินทุนขาดดุลถึง 3,199 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจาก 1) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 2) การลงทุนในหลักทรัพย์มีแรงซื้อหลักทรัพย์จากนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารทุนและตราสารหนี้ และ 3) ภาคธนาคารยังคงกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

คาดว่าการลงทุนโดยตรงสุทธิไตรมาสที่ 1 ปี 2553 มีมูลค่า 1,465 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 68.7 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศจะปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน โดยมีเงินทุนไหลเข้า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับมูลค่าการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนของ BOI ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน

คาดว่าการลงทุนในตราสารทุนของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 จะมีมูลค่าเงินทุนไหลเข้า 2,135 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 402 จากข้อมูลการซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดหลักทรัพย์ คาดว่านักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิเพิ่มขึ้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของโลกทั่วไปมีแนวโน้มดีขึ้น และจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจของ สหรัฐฯ และไทยที่ออกมาดี ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น

สำหรับการลงทุนอื่น ๆ คาดว่ามีการไหลเข้า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการลดการถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศและการกู้เงินจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ