รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 10 พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 10, 2010 10:47 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 10 พ.ค. 2553

Summary:

1. ร.ฟ.ท. ร่วมมือ กับ กฟผ. ก่อสร้างสถานีรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชันเพิ่มอีก 3 สถานี

2. พิษการเมือง ทุบการค้าปลีกรายเล็ก

3. รมต. คลังอียูมีมติตั้งกองทุน 5 แสนล้านยูโรป้องกันวิกฤตหนี้กรีซลุกลามทั่วยุโรป

Highlight:
1. ร.ฟ.ท. ร่วมมือ กับ กฟผ. ก่อสร้างสถานีรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชันเพิ่มอีก 3 สถานี

-นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า การรถไฟจะลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) วันนี้ เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีบางกรวย - กฟผ. เพิ่มเติมในเส้นทางรถไฟชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ตามที่ กฟผ. ร้องขอ ตามแผนที่มี 3 สถานี คือ บางซ่อน บางบำหรุ ตลิ่งชัน มูลค่าประมาณ 450 ล้านบาท โดย กฟผ. จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งคาดว่างานก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2555 ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต อยู่ระหว่างปรับเงื่อนไขการประมูล โดยให้คำนวณมูลค่างานเป็นเงินเยนและเงินบาท ซึ่งจะต้องส่งให้องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ JICA ผู้สนับสนุนเงินกู้พิจารณาอีกครั้ง ทั้งนี้ คาดว่าแล้วเสร็จและเปิดขายเอกสารประกวดราคาได้ในเดือนนี้

  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเร่งพัฒนาระบบเส้นทางเดินรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทยจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมในอนาคต เนื่องปัจจุบันประสิทธิภาพของการขนส่งในระบบรางของไทยมีอยู่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาค ทำให้เป็นข้อเสียเปรียบโดยเฉพาะในเรื่องของการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ทั้งนี้ การขนส่งระบบรางที่ดีขึ้นจะมีส่วนช่วยให้ต้นทุนการขนส่งลดลง และช่วยให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่โลจิสติกส์ เพิ่มความสะดวกในด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจโดยรวมสามารถเจริญเติบโตเพิ่มขึ้นตามมา
2. พิษการเมือง ทุบการค้าปลีกรายเล็ก
  • นายกสมาคมค้าปลีกไทยกล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองได้ส่งผลกระทบต่อการค้าปลีก โดยเฉพาะร้านโชห่วยชุมชนได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งไทยและต่างชาติลดลง สอดคล้องกับผู้บริหารร้านสะดวกซื้อเชเว่นอีเลฟเว่น (7/11) ที่กล่าวว่าจากปัญหาการเมืองดังกล่าว ได้ส่งผลให้รายได้ของบริษัท ในสาขาที่อยู่บริเวณใกล้การชุมนุมลดลงร้อยละ 20-30
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ด้านการบริโภคในเดือน เม.ย. 53 คาดว่าจะได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ หากการชุมนุมสามารถจบภายในไตรมาส 2 สศค. คาดว่าจะทำให้การใช้จ่ายของภาคเอกชนลดลง 30,600 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงร้อยละ -0.2 ต่อปี หรือขยายตัวที่ร้อยละ 4.3 ต่อปี ลดลงจากกรณีฐานที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค. 53)
3. รมต. คลังอียูมีมติตั้งกองทุน 5 แสนล้านยูโรป้องกันวิกฤตหนี้กรีซลุกลามทั่วยุโรป
  • รัฐมนตรีคลังของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีมติจัดตั้งกองทุนสร้างเสถียรภาพด้านการเงิน คิดเป็นมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5 แสนล้านยูโร หรือ 6.70 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีเป้าหมายที่จะป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้กรีซลุกลามไปทั่วภูมิภาคและบั่นทอนเสถียรภาพของสกุลเงินยูโร ทั้งนี้ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรายสัปดาห์นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 51 ส่งผลให้สหรัฐและเอเชียออกมาเรียกร้องให้มีการใช้มาตรการที่กว้างขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตหนี้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หรืออาจถึงกับฉุดให้เศรษฐกิจกลับสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ความวิตกกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศกรีซว่าจะลุกลามกลายเป็นปัญหาของภูมิภาคยุโรปเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนต่างถอนการลงทุนออกจากยุโรปและเอเชีย และกลับไปถือเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า และหากความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและ IMF ไม่สามารถเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับมาได้ก็จะทำให้เกิดความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงินทั่วโลกในระยะต่อไป นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวคาดว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจยุโรปไม่สามารถขยายตัวได้ตามที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 1.0 ต่อปีในปี 53

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ