บทสรุปผู้บริหาร: ผลกระทบจากปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS ต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 15:11 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อันได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน ทำให้หลายฝ่ายมีความกังวลว่าปัญหานี้จะลุกลามไปเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านภาคการเงิน (Financial Impacts) อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ไม่มี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS มากนักอีกทั้ง สถาบันการเงินไทยมีฐานะเข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่อาจเกิดขึ้นจากประเทศในกลุ่ม PIGS ได้ นอกจากนี้ ผลกระทบผ่านภาคเศรษฐกิจจริง(Real Sector Impacts) อยู่ในวงจำกัดเช่นกัน เนื่องจากมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าและการลงทุนของไทยทั้งหมด
  • อย่างไรก็ตาม สศค. เห็นว่า ในระยะสั้น รัฐควรติดตามปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าวลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม และในระยะปานกลาง รัฐควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งและเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกด้วย
1. บทนำ

ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้งชั้นนำของโลก ได้แก่ S&P Moody’s และ Fitch ต่างได้ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศในกลุ่ม PIGS อันได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ และสเปน จากการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง อันส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้อยู่ในระดับที่สูง และเนื่องจากประเทศในกลุ่ม PIGS เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรป ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้จะลุกลามกลายเป็นปัญหาของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจโลกโดยรวมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้

บทความนี้จะวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIGS ต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2. ปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS

ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา รัฐบาลในหลาย ๆ ประเทศจำเป็นต้องเข้ากระตุ้นเศรษฐกิจของตนอย่างมหาศาล เพื่อทดแทนอุปสงค์ที่ขาดหายไปและประคับประคองเศรษฐกิจของตนให้ดำเนินไปได้จนกว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ประเทศในกลุ่ม PIGS ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของตนเฉกเช่นประเทศอื่นๆ โดยแต่ดูเหมือนว่าสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาฟื้นตัว กล่าวคือ

โปรตุเกส ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลโปรตุเกสได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังกว่าร้อยละ 8.1 ต่อจีดีพี ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 81.2 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของโปรตุเกสโดยรวมยังไม่ดีนัก จากอัตราการว่างงานที่สูงถึงร้อยละ 9.5 ของแรงงานรวม และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงถึงร้อยละ 9.0 ต่อจีดีพี

อิตาลี แม้ว่าอิตาลีจะดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังเพียงร้อยละ 5 ต่อจีดีพี แต่จากระดับหนี้สาธารณะเดิมที่สูงถึงร้อยละ 116 ต่อจีดีพี ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของอิตาลีโดยรวมโดยอัตราการว่างงานยังคงอยุ่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.6 จากแรงงานรวม และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ร้อยละ 2.7 ต่อจีดีพี

กรีซ ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลกรีซได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังอย่างมหาศาลที่ร้อยละ 12.7 ต่อจีดีพี (สูงสุดในประเทศกลุ่ม PIGS) ส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่สูงที่ร้อยละ 113 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจของกรีซโดยรวมยังคงไม่มีสัญญาณว่าจะฟื้นตัว จากอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับสูงถึงร้อยละ 8.9 จากแรงงานรวม และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึงร้อยละ 12.4 ต่อจีดีพี และ

สเปน ในปี พ.ศ. 2552 รัฐบาลสเปนได้ดำเนินนโยบายขาดดุลการคลังกว่าร้อยละ -11.4 ต่อจีดีพีส่งผลให้ระดับหนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 55.1 ต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของสเปนยังคงแย่โดยอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 18.2 จากแรงงานรวม ส่วนทางด้านดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลที่ร้อยละ 5.0 ต่อจีดีพี

การขาดดุลงบประมาณและระดับหนี้สาธารณะที่สูงส่งผลให้บริษัทจัดเรตติ้ง S&P Moody’s และ Fitch ลดระดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรประเทศในกลุ่ม PIGS โดยประเทศกรีซเป็นประเทศแรกที่ถูกบริษัท S&P ปรับลดระดับความน่าเชื่อถือจาก A- เป็น BBB+ จากระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงถึงร้อยละ 113 ในปี 2552 ต่อมาประเทศสเปนที่แม้ว่าจะยังไม่ถูกปรับลดระดับแต่ก็ได้ถูกปรับ “มุมมอง” มาอยู่ในแง่ลบจากปัญหาหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกว่าร้อยละ 54 ในปี 2552 เช่นกัน โดยล่าสุดกรีซและสเปนมีระดับการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีที่ร้อยละ 12.7 และ 11.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1: การปรับลดระดับ Sovereign Risk โดยบริษัท S&P
ประเทศ          ระดับความน่าเชื่อถือ/มุมมอง               เหตุผล
โปรตุเกส         ธ.ค.52 / จาก A+ เป็น A-              ขาดดุลการคลัง กว่าร้อยละ 9 ต่อจีดีพี และยากที่จะปรับระดับลง เนื่องจากใน
                                                    ช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวเพียงเล็กน้อยต่อปี
อิตาลี            ยังไม่มีการลดระดับอย่างเป็นทางการ
กรีซ             ธ.ค.52 / จาก A- เป็น BBB+            ขาดดุลการคลังกว่าร้อยละ 12 ต่อจีดีพี และแผนการปรับลดการขาดดุลการคลังไม่มีความชัดเจน
สเปน            ธ.ค.52 / ถูกปรับมุมมองจาก “คงที่”        ขาดดุลการคลังถึงกว่าร้อยละ 10 ต่อจีดีพี
                เป็น  “แง่ลบ”
ที่มา: CMA: Global Sovereign Credit Risk Report

          นอกจากนี้ การขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะในระดับที่สูงของกลุ่มประเทศ PIGS นั้น ขัดต่อข้อบัญญัติภายใต้สนธิสัญญามาสทริชต์ (Maastricht Treaty)2 ของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้ 1) การขาดดุลงบประมาณไม่เกินร้อยละ 3 ของจีดีพี 2) ระดับหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60 ของจีดีพี และ 3) อัตราเงินเฟ้อไม่เกินร้อยละ 1.5 ของอัตราเฉลี่ยของ 3 ประเทศสมาชิกที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำสุด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อบัญญัติ ประเทศในกลุ่ม PIGS จำเป็นต้องลดระดับการขาดดุลการคลังของตนลง ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ การลดระดับการขาดดุลการคลังดังกล่าว อาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวหรืออาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม PIGS กลับไปทรุดตัวอีกครั้งได้
          การที่ประเทศในกลุ่ม PIGS ไม่สามารถเพิ่มหรือลดการขาดดุลงบประมาณของตนได้โดยง่าย ทำให้หลายฝ่ายคาดการว่าประเทศเศรษฐกิจหลักในสหภาพยุโรป ได้แก่ เยอรมนี และฝรั่งเศสจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาลุกลามไปสู่สหภาพยุโรปโดยรวมได้ ทั้งนี้ แม้ว่าผู้นำกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องยื่นมือช่วยเหลือกรีซเพื่อป้องกันมิให้ปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซส่งผลกระทบต่อเศราฐกิจของประเทศอื่น ๆ ในสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ก็ยังมิได้มีแผนการช่วยเหลือกรีซอย่างเป็นรูปธรรม โดยล่าสุด รัฐบาลกรีซได้ออกแถลงการณ์ว่าจะปรับลดการขาดดุลงบประมาณจากที่ขาดดุลร้อยละ 12.7 ในปีงบประมาณ 2552 ให้เหลือร้อยละ 8.7 ในปีงบประมาณ 2553 โดยการลดการใช้จ่ายภาครัฐ อาทิ การไม่ขึ้นเงินเดือนพนักงานภาครัฐ การปฏิรูปสวัสดิการสังคม และการปรับขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
          ในส่วนนี้ จะวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นของปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศ PIGS ต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)

3.1 ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact)
          3.1.1 ผลกระทบต่อผ่านการลงทุนโดยตรง
          สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านการลงทุนโดยตรงจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงจากกลุ่ม PIGS ในไทยคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 0.44 ของการลงทุนโดยตรงรวมในไทย โดยในช่วงปี 2548-2552 การลงทุนโดยตรงของกลุ่ม PIGS ในไทยคิดเป็นมูลค่า 170.12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.437 ของการลงทุนโดยตรงในไทยทั้งหมดในช่วง 11 เดือนแรกของปี พ.ศ. 2552 (ตารางที่ 2)

                         ตารางที่ 2: การลงทุนโดยตรงของกลุ่ม PIGS ในประเทศไทย
                                      (หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
               มูลค่าในปี       มูลค่าในปี      มูลค่าในปี      มูลค่าในปี      มูลค่าในปีพ.ศ.     สัดส่วนในปี พ.ศ.
               พ.ศ.2548      พ.ศ.2549     พ.ศ.2550     พ.ศ.2551     2552 (มค-พย)    2552 (มค-พย)
โปรตุเกส         -0.05         0.00         0.28          0.37         0.11            0.002%
อิตาลี             1.90        -0.56        12.43         -1.17        -5.16           -0.106%
กรีซ             -0.01        -0.04         1.03          6.43         0.35            0.007%
สเปน           -30.55        40.83        63.90         54.02        26.01            0.534%
รวม            -28.71        40.23        77.64         59.65        21.31            0.437%
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

          3.1.2 ผลกระทบต่อสถาบันการเงินไทยผ่าน Counterparty Risk
          สศค. วิเคราะห์ว่าผลกระทบโดยตรง (Direct Exposure) ต่อสถาบันการเงินไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินไทยกับประเทศในกลุ่ม PIGS มีน้อย อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk ได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยุโรปซึ่งมี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS โดย Bank of International Settlements รายงานว่าธนาคารพาณิชย์ในยุโรปโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักรมี Direct Exposure กับประเทศในกลุ่ม PIGS มากที่สุดกว่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้คาดว่าหากกลุ่ม PIGS ไม่สามารถแก้ปัญหาภาวะหนี้สาธารณะในระดับสูงของตนได้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศเหล่านี้ และอาจเป็นความเสี่ยงด้าน Counterparty Risk กับธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยได้ หากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยทำธุรกรรมกับธนาคารพาณิชย์ในยุโรปดังกล่าว
          3.1.3 ผลกระทบจากความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน
          สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจะอยู่ในวงจำกัดแม้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS จะส่งผลให้เงินทุนมีความผันผวนมากขึ้น จากข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่าหลังการประกาศลดระดับความน่าเชื่อถือของประเทศในกลุ่ม PIGS ช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐและค่าเงินเยนอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับอัตราCredit Default Swap ของประเทศในกลุ่ม PIGS ที่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงเดียวกัน จากการที่นักลงทุนมองว่าการลงทุนในสินทรัพย์สกุลยูโรมีความเสี่ยงที่สูงขึ้น จึงได้โยกย้ายการลงทุนออกไปสู่สินทรัพย์ในสกุลที่
ปลอดภัยกว่า (Safe Haven)
          อย่างไรก็ตาม สถานะของสถาบันการเงินไทยมีเข้มแข็งส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถรองรับความผันผวนของเงินทุนที่เกิดขึ้นได้ โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 อยู่ที่ 141.56 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.1 เท่าของหนี้ระยะสั้น) ซึ่งสามารถรองรับการชดใช้หนี้ระยะสั้นของประเทศได้
หากมีเงินทุนไหลออกจากประเทศ อีกทั้ง สัดส่วนเงินทุนสำรองต่อทรัพย์สินเสี่ยง (Capital Adequacy หรือ BIS Ratio)เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 อยู่ที่ 16.20 สูงกว่าระดับที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.50 ด้วยเหตุนี้ สศค. จึงเห็นว่าผลกระทบจากความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนจะอยู่ในวงจำกัด

3.2 ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)
          3.2.1 ผลกระทบผ่านช่องทางการค้า
          สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS จะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากการส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและประเทศในกลุ่ม PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยโดยการส่งออกของไทยไปประเทศกลุ่ม PIGS ในปี 2552 คิดเป็นมูลค่า 83,897 ล้านบาท หรือเพียงร้อยละ 1.6 ของ
การส่งออกของไทยโดยรวม (ตารางที่ 3) ดังนั้น หากเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม PIGS ทรุดตัวลงอีก การส่งออกของไทยโดยรวมก็ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับผลกระทบบ้างในหมวดสินค้าส่งออกที่ไทยส่งไปกลุ่มประเทศ PIGS ที่สำคัญ ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศ อาจจะได้รับผลกระทบบ้าง

               ตารางที่ 3: มูลค่าการส่งออกของไทยไปกลุ่มประเทศ PIGS
                                                            2551           2552
มูลค่าการส่งออกไปกลุ่มประเทศ PIGS (ล้านบาท)                     126,913.2      83,897.2
สัดส่วนการส่งออกไปกลุ่มประเทศ PIGS ต่อการส่งออกไทยทั้งหมด (%)            2.2           1.6
อัตราการขยายตัวของการส่งออก (%yoy)                                 0.0         -33.9
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดย สศค.

          เช่นเดียวกัน การนำเข้าสินค้าจากกลุ่มประเทศ PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเพียงร้อยละ 1.5 ของการนำเข้าโดยรวม (ตารางที่ 4) โดยสินค้านำเข้าหลักได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะและเคมีภัณฑ์ โดยอัตราการขยายตัวค่อนข้างคงที่ในปีที่ผ่านมา


                 ตารางที่ 4: มูลค่าการนำเข้าสินค้าจาก PIGS
                                                            2551           2552
มูลค่าการนำเข้าไปกลุ่มประเทศ PIGS (ล้านบาท)                     73,327.8       66,800.0
สัดส่วนการนำเข้าไปกลุ่มประเทศ PIGS ต่อการส่งออกไทยทั้งหมด (%)           1.2            1.5
อัตราการขยายตัวของการนำเข้า (%yoy)                                0.1           -0.1
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์ ประมวลผลโดย สศค


          3.2.2 ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย
          สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวไทยจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIGS คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทย (ตารางที่ 5) โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ PIGS ประมาณ 3 แสนคนเข้ามาในไทย หรือคิด
เป็นเพียงร้อยละ 2.0 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในไทยทั้งหมด

       ตารางที่ 5: จำนวนและสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่ม PIGS
                                    พ.ศ.2551              พ.ศ.2552
                                จำนวน      สัดส่วน       จำนวน     สัดส่วน
โปรตุเกส                        23,448      0.2%       22,798     0.6%
อิตาลี                          156,708      1.1%      174,642     1.2%
กรีซ                            18,363      0.1%       19,058     0.1%
สเปน                           78,353      0.5%       76,904     0.5%
รวมนักท่องเที่ยวจาก PIGS          276,872      1.9%      293,402     2.0%
รวมนักท่องเที่ยวทั้งหมด          14,624,372      100%   14,496,918     100%
ที่มา: CEIC รวบรวมโดย สศค.


4. แนวนโยบาย
          สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS จะไม่ได้มีผลกระทบผ่านชองทางภาคการเงินหรือภาคเศรษฐกิจจริงมากนัก อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามไปสู่สถาบันการเงินอื่นๆ ของโลกและอาจทำให้เศรษฐกิจของยุโรปโดยรวมได้รับผลกระทบดังนั้น ในระยะสั้น รัฐควรติดตามปัญหาหนี้สาธารณะของประเทศในกลุ่ม PIGS อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระมัดระวังผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยหากปัญหาดังกล่าวลุกลามไปสู่ปัญหาของสหภาพยุโรปโดยรวม และในระยะปานกลาง รัฐควรเร่งกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่ง และเร่งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกด้วย


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ