บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง สินค้าเกษตรไทยปี 53 ภายใต?AFTA: ใครได้ ใครเสีย?

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 11, 2010 15:48 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • การเปิดเสรีการค้าอาเซียนในด้านสินค้าเกษตรมีนัยสำคัญ ต่อเศรษฐกิจมหภาคของไทย เนื่องจากภาคเกษตรเกี่ยวข้องกับแรงงานกว่าร้อยละ 38.8 ของการจ้างงานรวม และกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นผู้นำเข้าหลักของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรของไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบ AFTA ได้ดำเนินมาในระยะหนึ่งแล้ว การลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ในต้นปี 2553 จึงไม่มีผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจของไทยมากนัก อย่างไรก็ดี ไทยจะได้ประโยชน์ในบางกลุ่มสินค้าที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสูง และประเทศคู่ค้ามีการปรับลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การส่งออกข้าวและมันสำปะหลังไปยังมาเลเซีย และการส่งออกน้ำตาลไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการลดภาษีศุลกากรในปี 2558
  • ในส่วนของการนำเข้า เนื่องจากภาษีศุลกากรของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น การลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ในปี 2553 จึงไม่น่ามีผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้าไขมันและน้ำมันพืช เป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมาเลเซียมีต้นทุนการผลิตไขมันและน้ำมันพืชที่ต่ำกว่า
1. ความเป็นมาของการเปิดการค้าเสรีอาเซียน

การเปิดการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า (ASEAN Free Trade Area — AFTA) เป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่จะนำไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยอาฟต้าได้กำหนดให้ประเทศสมาชิก 6 ประเทศ อันได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ลดภาษีศุลกากรขาเข้าของตนให้เหลือศูนย์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา ในขณะที่ ประเทศสมาชิกอาเซียนอีก 4 ประเทศ อันได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม จะลดภาษีศุลกากรขาเข้าของตนให้เหลือศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2558

ในการลดภาษีศุลกากร อาฟต้าแบ่งสินค้าออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มสินค้าที่จะต้องลดภาษีศุลกากรอย่างรวดเร็ว (Fast Track) ประกอบด้วยสินค้า 15 ประเภท ได้แก่ น้ำมันพืช เคมีภัณฑ์ ปูนซิเมนต์ เยื่อกระดาษ ปุ๋ย สิ่งทอ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์หนัง ผลิตภัณฑ์เซรามิกและแก้ว เครื่องใช้ไฟฟ้าทำจากทองแดง อิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ไม้และหวาย โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีศุลกากรขาเข้าที่สูงกว่าร้อยละ 20 ให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี พ.ศ. 2543 2) กลุ่มสินค้าที่จะลดภาษีศุลกากรตามปกติ (Normal Track) โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีศุลกากรขาเข้าที่สูงกว่าร้อยละ 20 ให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี พ.ศ. 2546 และจะต้องลดภาษีศุลกากรขาเข้าที่ร้อยละ 20 หรือต่ำกว่าให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี พ.ศ. 2543 3) กลุ่มสินค้าที่ได้รับการยกเว้นจากการลดภาษีศุลกากรชั่วคราว (Temporary Exclusion List) โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีศุลกากรขาเข้าของสินค้าในกลุ่มนี้ร้อยละ 20 ต่อปีและต้องลดภาษีให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี พ.ศ. 2546 4) กลุ่มสินค้าที่อ่อนไหว (Sensitive and Highly Sensitive Lists) โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดภาษีศุลกากรในสินค้ากลุ่มนี้ให้เหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี 2553 และ 5) กลุ่มสินค้าที่ได้รับการยกเว้นจากการลดภาษีศุลาการ (Exclusion List) อันได้แก่สินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับความมั่นคงของชาติศีลธรรม และจริยธรรมของสังคม รายละเอียดปรากฎตามตารางที่ 1

ตารางที่ 1: สรุปการลดอัตราภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA

กลุ่มสินค้า                  อัตราภาษีเดิม               อัตราภาษีเป้าหมาย      ปีที่จะต้องลดภาษีให้ได้ตามเป้า
Fast Track              มากกว่าร้อยละ 20             ร้อยละ 0 - 5                2543
Normal Track            มากกว่าร้อยละ 20             ร้อยละ 0 - 5                2546
                        มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 20     ร้อยละ 0 - 5                2543
Temporary Exclusion     ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า      ลดลงร้อยละ 20 ทุกปี         2538 — 2543
  List                                             ร้อยละ 0 - 5                2546
Sensitive and  Highly
  Sensitive Lists       ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้า        ร้อยละ 0 - 5                2553
ที่มา: กระทรวงการต่างประเทศ เรียบเรียงโดย สศค.

          นอกจากมิติด้านการลดภาษีแล้ว อาฟต้ายังครอบคลุมมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier) ด้วย อาทิ มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้า (โควต้า) โดย อาฟต้าได้กำหนดให้ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีภายใน 5 ปี หลังจากที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ อาฟต้ายังครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวก (Trade Facilitation) เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้ประโยชน์จากอาฟต้าได้อย่างเต็มที่ อาทิ
การนำระบบประเมินราคาศุลกากรของแกตต์มาใช้ในปี 2540 การปรับพิกัดอัตราศุลกากรให้อยู่ในระบบฮาโมไนซ์ 8 หลัก และการใช้ระบบช่องทางศุลกากรพิเศษสำหรับสินค้าอาฟต้า เป็นต้น
          อาฟต้ามีนัยสำคัญต่อภาคการเกษตรของไทย เนื่องจากอาเซียนเป็นตลาดสำคัญของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไทย โดยในปี พ.ศ. 2552 การส่งออกของสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปยังอาเซียน-5 อันได้แก่ บรูไน ดารุสซาลาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 13 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยทั้งหมด หรือเป็นมูลค่ากว่า 3.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น การเปิดเสรีการค้าอาเซียนที่เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2553 จึงมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของไทย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวจะส่งผ่านไปยังรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นแรงงานกว่าร้อยละ 38 ของแรงงานทั้งหมด การบริโภคภาคเอกชน และเศรษฐกิจไทยโดยรวมได้ในที่สุด
          รายงานฉบับนี้จะวิเคราะห์ผลกระทบของการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้าในปี พ.ศ. 2553 ต่อภาคการส่งออกนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทย โดยในส่วนที่ 2 จากวิเคราะห์สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้า และในส่วนที่ 3 จะวิเคราะห์สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่อาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้าดังกล่าว

2. สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้า
          สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้าจะต้องเป็นสินค้าที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูง และประเทศคู่ค้ามีการปรับลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญดังนั้นในส่วนนี้จะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และมิติการลดภาษีศุลกากรของประเทศคู่ค้า

2.1 มิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังอาเซียน-5
          หากพิจารณาจากสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยส่งออกไปยังอาเซียน-5 จะพบว่าสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรส่งออกหลักของไทย ได้แก่ ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย และมันสำปะหลัง ซึ่งสินค้าทั้ง 4 รายการนี้คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 45.7 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 83.1 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังอาเซียน-5  ดังนั้นในส่วนต่อไป จะพิจารณาถึงระดับการลดภาษีศุลกากรของอาเซียน-5 ใน 4 รายการนี้เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์โอกาสการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้าต่อไป

2.2 มิติการลดภาษีศุลกากรของประเทศคู่ค้า
          ในส่วนนี้จะวิเคราะห์การลดภาษีศุลกากรของแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน-5 ในสินค้า 4 รายการอันได้แก่ ข้าว ยางพารา น้ำตาลทราย และมันสำปะหลัง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าร้อยละ 83.1 ของการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรของไทยไปยังอาเซียน-5 ทั้งนี้ การลดภาษีศุลกากรได้ดำเนินมาในระยะหนึ่งแล้ว ดังนั้นอัตราภาษีศุลกากรในสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรหลายรายการจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 และ2558 จะมีการลดภาษีศุลกากรเพิ่มเติมในบางหมวดสินค้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่เกี่ยวกับ 5 รายการสินค้าดังนี้
          1. ข้าว เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน-5 สูงสุด กว่าร้อยละ 32.7 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังอาเซียน-5 โดย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ เป็นประเทศในกลุ่มอาเซียน-5 ที่นำเข้าข้าวจากไทยเป็นอันดับต้น ๆ (ตารางที่ 2) อย่างไรก็ตาม จากการที่ข้าวเป็นสินค้าอ่อนไหวสำหรับมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้อัตราภาษีศุลกากรของข้าวในประเทศเหล่านั้นอยุ่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 30-40 ดังนั้นการลดภาษีศุลกากรขาเข้าข้าวของมาเลเซียตามกรอบอาฟต้ากว่าร้อยละ 35-40 จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกไปยังมาเลเซีย สำหรับภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวของประเทศฟิลิปปินส์ จะมีการเจรจาอีกครั้ง ในขณะที่ไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากอาฟต้าในการส่งออกข้าวไปยังบรูไนและสิงคโปร์ เนื่องจากอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0 อยู่ก่อนแล้ว

                    ตารางที่ 2: มูลค่าการส่งออกข้าวไทยและอัตราภาษีศุลกากรของอาเซียน-5
ประเทศคู่ค้า          มูลค่าการส่งออก              อัตราภาษีศุลกากรขาเข้า            ส่วนต่างอัตราภาษี
                   ไทย (ล้าน ดรอ.)          2551    2553      2558        ศุลกากร (2558-2553)
 บรูไน                  131.5                0%       0%       0%                0%
 อินโดนีเซีย              343.8*              30%      30%      25%                5%
 มาเลเซีย               926.5*              40%      20%     0-5%               35-40%
 ฟิลิปปินส์                631.3*              40%      N/A      N/A                N/A
 สิงคโปร์                596.4                0%       0%       0%                0%
ที่มา: ASEAN Secretariat โดยความอนุเคราะห์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: มูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละหมวดในรูปล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2548 — 2551
* คือสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List or Highly Sensitive List)

          2. ยางพารา เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน-5 อันดับที่ 2 โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 26.0 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังอาเซียน-5 โดยมาเลเซียเป็นผู้นำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับแรกในกลุ่มอาเซียน-5 (ตารางที่ 3) ทั้งนี้ เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าอ่อนไหวของอาเซียน-5 เลย ทำให้อัตราภาษีศุลกากรนำเข้ายางพาราอยู่ในระดับที่ต่ำเพียงร้อยละ 0-5 ส่งผลให้ไทยไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรนำเข้ายางในกรอบอาฟต้ามากนัก

                    ตารางที่ 3: มูลค่าการส่งออกยางพาราไทยและอัตราภาษีศุลกากรของอาเซียน-5
ประเทศคู่ค้า           มูลค่าการส่งออก             อัตราภาษีศุลกากรขาเข้า            ส่วนต่างอัตราภาษี
                   ไทย (ล้าน ดรอ.)          2551    2553      2558        ศุลกากร (2558-2553)
 บรูไน                   -                   0%      0%        0%                  0%
 อินโดนีเซีย               22.6                5%      0%        0%                  5%
 มาเลเซีย             4,075.5                0%      0%        0%                  0%
 ฟิลิปปินส์                 37.6                3%      0%        0%                  3%
 สิงคโปร์                347.4                0%      0%        0%                  0%
ที่มา: ASEAN Secretariat โดยความอนุเคราะห์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: มูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละหมวดในรูปล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2548 — 2551

          3. น้ำตาลทราย เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน-5 อันดับที่ 3 โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 17.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังอาเซียน-5 โดยอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยเป็นอันดับแรกในกลุ่มอาเซียน-5 (ตารางที่ 4) ทั้งนี้ เนื่องจากน้ำตาลทรายเป็นสินค้าอ่อนไหวของอินโดนีเซียและเป็นสินค้าในกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นจากการลดภาษีของฟิลิปปินส์ ทำให้อัตราภาษีศุลกากรนำเข้าน้ำตาลทรายของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์อยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 30-40 ดังนั้น การลดภาษีศุลกากรขาเข้าน้ำตาลทรายของอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ตามกรอบอาฟต้า จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกน้ำตาลทรายไปยังสองประเทศนี้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียซึ่งมีการนำเข้าน้ำตาลทรายจากไทยในระดับสูงอยู่แล้ว ในขณะที่ไทยจะไม่ได้รับประโยชน์จากอาฟต้าในการส่งออกน้ำตาลทรายไปยังบรูไน มาเลเซียและสิงคโปร์ เนื่องจากอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0 อยู่ก่อนแล้ว


                 ตารางที่ 4: มูลค่าการส่งออกน้ำตาลทรายไทยและอัตราภาษีศุลกากรของอาเซียน-5
ประเทศคู่ค้า           มูลค่าการส่งออก              อัตราภาษีศุลกากรขาเข้า            ส่วนต่างอัตราภาษี
                   ไทย (ล้าน ดรอ.)          2551    2553      2558        ศุลกากร (2558-2553)
 บรูไน                   10.3                0%      0%        0%                 0%
 อินโดนีเซีย            1,504.7*             30-40%   30-40%   5%-10%            25%-30%
 มาเลเซีย               144.8                0%      0%        0%                 0%
 ฟิลิปปินส์                156.0**             38%     38%       0-5%             33%-38%
 สิงคโปร์                181.2                0%      0%        0%
ที่มา: ASEAN Secretariat โดยความอนุเคราะห์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: มูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละหมวดในรูปล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2548 — 2551
* คือสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List or Highly Sensitive List)

4. มันสำปะหลัง เป็นสินค้าเกษตรที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกไปยังอาเซียน-5 อันดับที่ 4 โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 6.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไปยังอาเซียน-5 โดย อินโดนีเซียและมาเลเซียเป็นประเทศที่นำเข้ามันสำปะหลังจากไทยเป็นอันดับต้น ๆ (ตารางที่ 5) ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราภาษีศุลกากรนำเข้ามันสำปะหลังของอาเซียน-5 อยู่ในระดับที่ต่ำเพียงร้อยละ 0-5 ส่งผลให้ไทยไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรนำเข้ายางในกรอบอาฟต้ามากนัก

ตารางที่ 5: มูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังไทยและอัตราภาษีศุลกากรของอาเซียน-5

ประเทศคู่ค้า           มูลค่าการส่งออก             อัตราภาษีศุลกากรขาเข้า            ส่วนต่างอัตราภาษี
                   ไทย (ล้าน ดรอ.)          2551    2553      2558        ศุลกากร (2558-2553)
 บรูไน                   0.2                 0%      0%         0%               0%
 อินโดนีเซีย             443.9                 0%      0%         0%               0%
 มาเลเซีย              244.6                 5%      0%         0%               5%
 ฟิลิปปินส์               117.5*                5%      5%         0%               5%
 สิงคโปร์               121.8                 0%      0%         0%               0%
ที่มา: ASEAN Secretariat โดยความอนุเคราะห์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: มูลค่าส่งออกสินค้าแต่ละหมวดในรูปล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2548 — 2551
* คือสินค้าที่อยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหว (Sensitive List or Highly Sensitive List)

          โดยสรุป เมื่อพิจารณาจากมิติมูลค่าและสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร กอปรกับมิติการลดภาษีศุลกากรขาเข้าของประเทศคู่ค้า สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบ AFTA ได้ดำเนินมาในระยะหนึ่งแล้ว การลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ในต้นปี 2553 จึงไม่มีผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจของไทยมากนัก อย่างไรก็ดี ไทยจะได้ประโยชน์ในบางกลุ่มสินค้าที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสูงและประเทศคู่ค้ามีการปรับลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ การส่งออกข้าวและมันสำปะหลังไปยังมาเลเซีย และการส่งออกน้ำตาลไปยังอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งจะมีการลดภาษีศุลกากรในปี 2558
          สินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรที่ไทยอาจได้รับผลกระทบจากการลดภาษีศุลกากรในกรอบอาฟต้าจะต้องเป็นสินค้าที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูง และไทยมีการปรับลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นในส่วนนี้จะแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 มิติ ได้แก่ มิติมูลค่าและสัดส่วนการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร และมิติการลดภาษีศุลกากรของประเทศคู่ค้า
          เมื่อพิจารณาจากมิติมูลค่านำเข้า พบว่าประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรจากอาเซียน-5 เป็นมูลค่าน้อย โดยในปี พ.ศ. 2552 ไทยนำเข้าสินค้าเหล่านี้เพียง 941.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพียง 1 ใน 3 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรไทยไปยังอาเซียน-5 โดยสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรรวมทั้งสินค้าต้นน้ำภาคการเกษตรสำคัญที่ไทยนำเข้าจะอาเซียน-5 ได้แก่ ปุ๋ย ปลาทูน่า ไขมันและน้ำมันพืช ยางและเศษยางยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และแป้ง อัตราภาษีศุลกากรนำ เข้าสินค้าดังกล่าวของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำ เพียงร้อยละ 0-5 (ตารางที่ 6) นอกจากนี้ ไทยมีสินค้าเกษตรบางหมวดที่อยู่ในหมวดสินค้าอ่อนไหว ได้แก่ ดอกไม้สด มันฝรั่ง กาแฟ และมะพร้าวแห้ง ยังคงมีภาษีศุลกากรขาเข้าอยู่ที่ร้อยละ 5 ซึ่งทำให้ผู้ผลิตสินค้าเหล่านี้ในไทยยังคงได้รับความคุ้มครองทางด้านภาษีจนถึงปี 2558
          โดยสรุป ในส่วนของการนำเข้า เนื่องจากภาษีศุลกากรของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว ดังนั้นการลดภาษีศุลกากรเป็นศูนย์ในปี พ.ศ. 2553 จึงไม่น่ามีผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม การลดภาษีนำเข้าไขมันและน้ำมันพืชก็เป็นที่น่าจับตามอง เนื่องจากมาเลเซียมีต้นทุนการผลิตไขมันและน้ำมันพืชที่ต่ำกว่า


                      ตารางที่ 6: มูลค่าการนำเข้าและอัตราภาษีศุลกากรของอาเซียน-5
สินค้าเกษตรและ          มูลค่าการนำเข้าของ     อัตราภาษีศุลกากรขาเข้าของไทย         ส่วนต่างอัตราภาษี
อุตสาหกรรมเกษตร        ไทยจากอาเซียน-5      2551     2553     2558         ศุลกากร (2558-2553)
ปุ๋ย                         690.6           0%       0%       0%                  0%
ปลาทูน่า                     378.1           0%       0%       0%                  0%
ไขมันและน้ำมันพืช              353.3          0-5%      0%       0%                 0-5%
ยางและเศษยาง               198.5           0%       0%       0%                  0%
ยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์          155.5           0%       0%       0%                  0%
แป้ง                         72.5          0-5%      0%       0%                 0-5%
ที่มา: ASEAN Secretariat โดยความอนุเคราะห์จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
หมายเหตุ: มูลค่าการนำเข้าแต่ละหมวดในรูปล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นมูลค่ารวมตั้งแต่ปี 2548 — 2551


4 .แนวนโยบาย
          ในแง่การส่งออก ไทยจะได้รับประโยชน์จากการลดภาษีศุลกากรนำเข้าในกรอบอาฟต้า โดยเฉพาะการลดภาษีศุลกากรนำเข้าข้าวของมาเลเซีย และการลดภาษีศุลกากรนำเข้าน้ำตาลของอินโดนีเซีย ดังนั้น ไทยควรเร่งปรับศักยภาพการผลิตข้าวและน้ำตาลของไทยเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความตกลงอาฟต้าได้อย่างเต็มที่ ทั้งในเรื่องการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ โดยในปัจจุบันการผลิตข้าวของไทยยังมีปัจจัยเหนี่ยวรั้งในแง่ปริมาณที่สามารถผลิตได้ต่อปี ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำเพียงประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของอาเซียนอยู่ที่ 638 กิโลกรัมต่อไร่2 อีกทั้งผลผลิตข้าวยังประสบปัญหาศัตรูพืชและสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยอยู่เนืองๆ ดังนั้น รัฐจึงควรเร่งผลิตผล (Productivity) ในการผลิตข้าว เพื่อให้ไทยสามารถใช้โอกาสจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียนได้เต็มที่
          ในแง่ของการนำเข้า แม้ว่าการนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรจะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อย อีกทั้งภาษีศุลกากรของไทยในสินค้าเหล่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำ ทำให้คาดว่าผลกระทบจากการลดภาษีศุลกากรตามกรอบอาฟต้าในปีพ.ศ. 2553 จะมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมาเลเซียมีต้นทุนการผลิตไขมันและน้ำมันพืชที่ต่ำกว่า การลดภาษีศุลกากรนำเข้าในหมวดสินค้านี้ จึงอาจทำให้หมวดไขมันและน้ำมันพืชมีการแข่งขันสูงขึ้น ดังนั้น รัฐควรสอดส่องดูแลเกษตรกรและผู้ผลิตให้สามารถรองรับการแข่งขันจากอาเซียนที่สูงขึ้น


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ