ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนเมษายน 2553 และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 13, 2010 09:24 —กระทรวงการคลัง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.59 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้ากว่า 6.7 หมื่นล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากการที่กระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และการบริโภคและการนำเข้าที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายแล้วกว่าสองแสนล้านบาท หรือร้อยละ 31.6

ในเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,984 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 67,368 ล้านบาท หรือร้อยละ 73.5 โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และอากรขาเข้า ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนนี้กระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท ส่งผลให้รายได้ส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการถึงร้อยละ 1,837.1

สำหรับในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — เมษายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 839,630 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 201,422 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.6 โดยทั้ง 3 กรมจัดเก็บหลัก ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จัดเก็บภาษีได้สูงกว่าเป้าหมาย 72,329 70,911 และ 14,320 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.0 41.4 และ 33.3 ตามลำดับ

นายสาธิตฯ สรุปว่า “แม้ว่าการจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณจะได้ ผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง แต่กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่าการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปี 2553 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จำนวน 1.522 ล้านล้านบาทอย่างแน่นอน”

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนเมษายน 2553 และในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนเมษายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,984 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 67,368 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — เมษายน 2553) จัดเก็บได้ 839,630 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 201,422 ล้านบาท เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ ยาสูบ และผลจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 158,984 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 67,368 ล้านบาท หรือร้อยละ 73.5 (สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 68.0) มีสาเหตุสำคัญจากการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคและการนำเข้าสูงกว่าประมาณการ ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ในเดือนนี้กระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้รายได้ส่วนราชการอื่นสูงกว่าประมาณการถึง 49,234 ล้านบาท ทั้งนี้ ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 3 อันดับแรก ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บได้ 44,177 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 10,158 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.9 เป็นผลจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากสินค้านำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 47.8 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายใน ประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 18.8
  • ภาษีน้ำมัน จัดเก็บได้ 13,852 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 5,705 ล้านบาท หรือร้อยละ 70.0 เป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีน้ำมันในเดือนพฤษภาคม 2552
  • อากรขาเข้า จัดเก็บได้ 8,463 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,798 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.4 เป็นผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดเก็บเป็นไปในทิศทางเดียวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้อื่นของกรมศุลกากรในเดือนเมษายน มีจำนวนถึง 996 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 831 ล้านบาท หรือร้อยละ 503.8 เนื่องจากได้รับรายได้จากค่าปรับคดีจำนวน 897 ล้านบาท

สำหรับรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 4,169 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเกิดจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอทยอยนำส่งรายได้เป็น 6 งวด จากเดิมที่คาดว่าจะนำส่งทั้งจำนวน 2,998.83 ล้านบาทในเดือนเมษายน และการไฟฟ้านครหลวงยังไม่ได้นำส่งรายได้ อย่างไรก็ดี บมจ. ปตท. จ่ายเงินปันผลสูงกว่าประมาณการ 729.95 ล้านบาท และการท่าเรือแห่งประเทศไทยนำส่งรายได้ 664.70 ล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะนำส่ง 624.50 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2553

2. ในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — เมษายน 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 839,630 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 201,422 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 27.7) เป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บที่สูงกว่าประมาณการ ถึง 157,560 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.6 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และมีรายได้จากการรับโอนเงินยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 555,488 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 72,329 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 7.0) ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 53,219 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.5 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 14,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.9 เป็นผลจากภาษีที่จัดเก็บได้จากฐานเงินเดือนที่สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้เป็นสำคัญ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 242,202 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 70,911 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 58.1) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 34,691 7,523 6,938 และ 2,432 ล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 31.9 22.8 และ 10.1 ตามลำดับ นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และมีการซื้อสินค้าคงทนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีรถยนต์ที่สูงกว่าประมาณการถึง 18,705 ล้านบาท หรือร้อยละ 75.9

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 57,300 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 14,320 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 33.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 20.8) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 13,103 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.5 โดยมูลค่าการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 — มีนาคม 2553) ในรูปดอลลาร์สหรัฐ และเงินบาท ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 23.38 และ 18.62 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,317 ล้านบาท หรือร้อยละ 113.0 เป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 กรมศุลกากรได้มีรายได้จากค่าปรับคดีสูงถึง 897 ล้านบาท

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 51,063 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,020 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 22.1) เนื่องจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวง นำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,396.23 1,798.53 และ 945.93 ล้านบาท ตามลำดับ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอทยอยนำส่งรายได้เป็น 6 งวดจากเดิมที่คาดว่าจะส่งทั้งจำนวนในเดือนเมษายน และการไฟฟ้านครหลวงยังไม่ได้นำส่งรายได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบทานงบการเงินอย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้และการจ่ายเงินปันผลของกองทุนรวมวายุภักษ์ การประปาส่วนภูมิภาค และบมจ. ปตท. สูงกว่าประมาณการ 1,100 955.14 และ 729.75 ล้านบาท ตามลำดับ

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 94,849 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 51,836 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 120.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 97.8) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 ประกอบกับในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวง การคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 126,662 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 516 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 (สูงกว่าปีที่แล้วร้อยละ 1.9) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 91,191 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 35,471 ล้านบาท

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรให้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 2 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 22,038 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วจำนวน 5,028 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.6

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 64/2553 12 พฤษภาคม 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ