รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 24 พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 24, 2010 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 24 พ.ค. 2553

Summary:

1. ทีเอชเอ ชง 9 ข้อเสนอนายกฯ ฟื้นธุรกิจโรงแรม

2. ยอดขายรถยนต์เดือน เม.ย. 53 ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 8

3. GDP ญี่ปุ่นไตรมาสที่ 1 ปี 53 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี

Highlight:
1. ทีเอชเอ ชง 9 ข้อเสนอนายกฯ ฟื้นธุรกิจโรงแรม
  • นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า จะมีการประชุมสมาชิกเพื่อสรุปความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดและหลังจากนั้นจะยื่นข้อเสนอ 9 ข้อต่อนายกรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมทั้งระบบ เนื่องจากขณะนี้อัตราเข้าพักโรงแรมทั่วประเทศเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรมครั้งนี้ถือว่ารุนแรงมาก เมื่อเทียบกับเมื่อครั้งที่ปิดสนามบิน ผลกระทบครั้งนี้ก็เลวร้ายไม่ต่างกันเพราะภาพของการปะทะจนถึงชีวิต และความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการเผาทำลายอาคารต่างๆ และเชื่อว่ากว่าที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งต้องใช้เวลา 6 เดือน ถึง 1 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความรุนแรงคาดว่าจะส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ โรงแรมและภัตตาคาร ค้าส่งค้าปลีก และคมนาคมขนส่ง โดยใน 3 ส่วนนี้รวมกันคิดเป็นร้อยละ 27.4 ของ GDP นอกจากนี้ ยังส่งผลถึงแรงงานภาคการบริการที่มีสัดส่วนร้อยละ 39.4 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ซึ่งหากมีการว่างงานจะส่งผลกระทบการบริโภคภาคเอกชนตามไปด้วย ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับความเสียหายร้อยละ 0.5 -1.8 ต่อปี จากกรณีฐานที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี
2. ยอดขายรถยนต์เดือน เม.ย. 53 ขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนที่ 8
  • บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานว่าปริมาณการขายรถยนต์เดือนเม.ย.53 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที 8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 26,274 คัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 64.4 สูงสุดในรอบ 16 เดือน รถยนต์เชิงพาณิชย์ 30,854 คัน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 30.0 ตามความนิยมต่อเนื่องของรถยนต์นั่งรุ่นใหม่หลายรุ่น ทั้งรถยนต์ประหยัดพลังงาน รถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง และภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่ดีขึ้น ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัว ซึ่งส่งผลดีต่อตลาดรถยนต์โดยรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณจำหน่ายรถยนต์ขยายตัวเป็นบวกอย่างต่อเนื่องสะท้อนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังอยู่ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน และภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 53 แม้ว่าจะมีปัจจัยทางการเมืองมารุมเร้าบ้าง อย่างไรก็ตาม คาดว่าระยะต่อไปปริมาณการจำหน่ายการรถยนต์จะปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากปัญหาทางการเมืองที่มีความตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง จนมีการก่อจลาจลใน กทม. และต่างจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงาน และปัจจัยทางจิตวิทยาของประชาชนโดยรวม และจะส่งผลให้การบริโภคลดลง สะท้อนได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน (เม.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 67.2)
3. GDP ญี่ปุ่นไตรมาสที่ 1 ปี 53 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี
  • GDP ญี่ปุ่นไตรมาสที่ 1 ปี 53 กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี (% yoy) หลังจากไตรมาสก่อนหน้าหดตัวร้อยละ -1.1 ต่อปี (% yoy) ในขณะที่หากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ต่อปี (% qoq) จากการส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้น โดยภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อหน้าที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (% qoq) จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ในขณะที่ภาคการบริโภคเอกชนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (% qoq)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นถือเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 10.3 ของมูลค่าส่งออกสินค้ารวมใน ปี 2552 ถึงแม้ว่าภาคการบริโภคเอกชนยังคงขยายตัวอยู่ในระดับที่ต่ำในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่การลงทุนสินค้าคงคลัง (Inventories) จะขยายตัวในระยะต่อไปจากการที่สินค้าดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา น่าจะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในระยะต่อไปได้ โดยสศค.คาดการณ์ว่า ในปี 53 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ เดือนมี.ค. 53)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ