รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 26, 2010 10:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 พ.ค. 2553

Summary:

1. ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี-ค่าธรรมเนียม หนุนสถาบันการเงินควบรวมกิจการ

2. กสิกรไทยชี้จลาจลฉุดจีดีพีปีนี้โตแค่ 2.3 %

3. เยอรมันเตรียมปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 13 พันล้านดอลลาร์

Highlight:
1. ครม.ไฟเขียวมาตรการภาษี-ค่าธรรมเนียม หนุนสถาบันการเงินควบรวมกิจการ
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) (25 พ.ค.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษี และค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 2 (ปี 2553-2554) ที่กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ร่วมกันจัดทำ 1)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่สถาบันการเงิน 2)ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ให้แก่สถาบันการเงิน 3)ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ถือหุ้นของสถาบันการเงิน 4)การลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอน และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ และอาคารชุดเหลือร้อยละ 0.01
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553 - 2557) มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบการเงินให้สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และสามารถให้บริการกับลูกค้าทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจ ได้อย่างทั่วถึง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2. กสิกรไทยชี้จลาจลฉุดจีดีพีปีนี้โตแค่ 2.3 %
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า การชุมนุมทางการเมืองและเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในกรณีเลวร้ายสุด โดยจะสร้างความเสียหายถึง 230,000 ล้านบาท ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงเหลือ 2.3 %
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม การใช้บริการโรงแรมและภัตตาคาร และการเดินทางสัญจร ซึ่งทั้ง 3 ประเภทนี้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 52.3 ของการบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งส่งผลกระทบทันทีต่อภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 6.5 ของ GDP โดยในเบื้องต้นมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงแล้วอย่างน้อยร้อยละ -0.50 ต่อปีจากกรณีฐาน อย่างไรก็ดี จากแรงขับเคลื่อนของภาคการส่งออก และการใช้จ่าย ภาคเอกชนในประเทศ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 ยังคงมีโอกาสขยายตัวได้ในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.5 ต่อปี
3. เยอรมันเตรียมปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีจำนวน 13 พันล้านดอลลาร์
  • สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่า รัฐบาลเยอรมันได้เตรียมแผนการปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีในช่วงปี 2011-2016 อย่างต่ำจำนวน 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินนโยบายการคลังที่รัดกุมแก่กลุ่มประเทศสมาชิกยูโรโซน โดยกำหนดให้ปรับเพิ่มภาษีและลดรายจ่ายของภาครัฐในส่วนของการชดเชยต่างๆ รวมทั้ง ยกเลิกการยกเว้นภาษีในสิ่งที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้รัฐบาลเยอรมันยังได้เตรียมการปฎิรูประบบประกันสังคมและการว่างงานเพื่อให้เกิดการขยายตัวของการจ้างงานในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศ PIIGS ได้ส่งผลกระทบความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจของยูโรโซนในภาพรวม กอปรจากการที่สหภาพยุโรปและกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลกรีซเป็นเงินกู้จำนวน 110 พันล้านยูโร ระยะเวลา 3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาระยะสั้น ทั้งนี้ การปรับลดงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในกลุ่มยูโรโซน เช่นในกรณีของเยอรมัน ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจแก่ประเทศยูโรโซนระยะยาว

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ