รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 31 พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 10:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 31 พ.ค. 2553

Summary:

1. พาณิชย์ปลื้มส่งออกอาฟตาไตรมาสแรกพุ่ง 75%

2. ต่างชาติกระหน่ำลงทุนไทย

3. นักวิเคราะห์มองการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ จะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2

Highlight:
1. พาณิชย์ปลื้มส่งออกอาฟตาไตรมาสแรกพุ่ง 75%
  • รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยถึง ผลการใช้สิทธิพิเศษส่งออกภายใต้อัตราภาษีศุลกากรพิเศษที่เท่ากันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟตา) ในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 ว่า ไทยส่งออกภายใต้อาฟตามีมูลค่า 3,167.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.1 ต่อปี โดยสินค้าที่ใช้สิทธิอาฟตาสูงส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ ขณะที่สินค้าเกษตร ได้แก่ มันสำปะหลัง ข้าวโพด น้ำตาลทราย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการปรับลดอัตราภาษีของอาฟตาในปี 53 นั้นพบว่า การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 ไปยังกลุ่มประเทศอาฟตาหลัก(บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์) สินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย รถยนต์และส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัวร้อยละ 436.1 116.4 และ 113.6 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนของกลุ่มประเทศอาฟตาในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 17.2 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.9 ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยกระจายความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปที่หนี้สาธารณะอยู่ในระดับสูง
2. ต่างชาติกระหน่ำลงทุนไทย
  • เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ 4 เดือนแรกของปี 53 ว่ามีจำนวน 245 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.7 ต่อปี จากปีก่อนที่มีโครงการ 186 โครงการ ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 146 ต่อปี มาอยู่ที่ 5.33 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ มีการลงทุนในโครงการใหม่ 130 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.45 หมื่นล้านบาท และเป็นการขยายการลงทุน 115 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 2.87 หมื่นล้านบาท ซึ่งกิจการที่นักลงทุนต่างชาติยื่นขอส่งเสริมและมียอดเงินทุนสูงสุดคือ กิ จการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง โดยเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นยังคงยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด และรองลงมาคือ สิงคโปร์
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 1 ปี 53 การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ ขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี เพิ่มขึ้นมากจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -4.6 ต่อปี โดยเป็นการลงทุนในเครื่องจักรภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.7 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกประกอบกับฐานลงทุนในปีที่แล้วต่ำ ซึ่งสะท้อนว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ปัญหาการเมืองอาจจะส่งผลกระทบในช่วงไตรมาส 2 ของปี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริงปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 7.7 ถึง 8.7 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มี.ค. 53)
3. นักวิเคราะห์มองการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ จะขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2
  • การใช้จ่ายภาคครัวเรือนและรายได้ประชาชนของสหรัฐฯ เดือน เม.ย. 53 แม้จะไม่ขยายตัวตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom) แต่จากรายได้ประชาชนที่แท้จริงเพื่อการบริโภคที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้นักวิเคราะห์คาดว่า หากรายจ่ายภาคครัวเรือนเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 53 ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 0.3 ต่อเดือน จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 (%saar) ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 3.5 (%saar)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 53 พบว่าการบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน จากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ค. 53 อยู่ในระดับ 63.3 สูงที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 51 สำหรับภาคการจ้างงานนั้น แม้ว่าตำแหน่งงานจะเพิ่มขึ้น แต่อัตราการว่างงานโดยรวมในเดือน เม.ย. 53 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 9.9 ของกำลังแรงงานทั้งหมด นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นการซื้อบ้านของสหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดลง ยังอาจส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนชะลอลงในระยะต่อไป

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ