รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 17 — 27 พฤษภาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 31, 2010 10:26 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • GDP ไทยในไตรมาส 1 ปี 53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปีที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี หรือร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนเม.ย. 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 145.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ทำให้ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือนเม.ย. 53 ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 17.0 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 64.4 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณจำ หน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย.53 ขยายตัวที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี และปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 28.1 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 53 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปี และดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.1 ต่อปี
  • มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี ในขณะที่ มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 46.0 ต่อปี ทำให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย. 53 ขาดดุลที่ -226.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 99.3 และ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 23.0 ต่อปี
  • นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเม.ย.53 มีจำนวน 1.08 ล้านคน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.2 ต่อปี
Indicators next week
   Indicators                     Forecast            Previous
Apr: Cement Sales (%yoy)             9.0                 9.0
     Iron Sales (%yoy)              15.0                28.3
  • เนื่องจากการฟื้นตัวของการของการลงทุนภายในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น
Economic Indicators: This Week

GDP ไทยในไตรมาส 1 ปี 53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 15 ปี ที่ร้อยละ 12.0 ต่อปี หรือร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าและบริการและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 16.2 และ 15.8 ต่อปีตามลำดับขณะที่เมื่อพิจารณาด้านอุปทานพบว่าสาเหตุที่ทำให้ GDP ขยายตัวได้สูงมาจากสาขาอุตสาหกรรม และสาขาโรงแรมภัตตาคารที่ขยายตัวที่ร้อยละ 22.8 และ 15.5 ต่อปี ตามลำดับ

ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน เม.ย. 53 เบิกจ่ายได้จำนวน145.5 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 125.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้จำนวน 10.8 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -46.1 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญในเดือน เม.ย. 53 ได้แก่ รายจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 15.6 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 5.1 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนประกันสังคม จำนวน 4.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ การเบิกจ่ายในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 เบิกจ่ายได้จำนวน 1,079.5 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -3.0 ต่อปี โดยเป็นงบประมาณประจำปีงบประมาณ 53 คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณที่ร้อยละ 56.8 ของกรอบวงเงินงบประมาณ (1.70 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้คาดว่าผลการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 53 จะเป็นไปตามเป้าหมายอย่างน้อยที่ร้อยละ 94.0 ของกรอบวงเงินงบประมาณ นอกจากนี้ ผลการเบิกจ่ายแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 ณ วันที่ 21 พ.ค. 53 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 140.6 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายที่ร้อยละ 40.2 ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติจำนวน 350.0 พันล้านบาท

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน เม.ย. 53 ดุลเงินงบประมาณเกินดุลจำนวน 17.0 พันล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 11.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (ก่อนกู้) ของรัฐบาลเกินดุลจำนวน 28.3 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ 53 รัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณจำนวน -239.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -54.0 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) จำนวน -293.5 พันล้านบาท ส่งผลให้ปริมาณเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน เม.ย. 53 มีจำนวน 175.9 พันล้านบาท ซึ่งการการขาดดุลดังกล่าวสะท้อนถึงการดำเนินนโยบายการขาดดุลของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 64.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 42.8 ต่อปี โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1) กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น ตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก (รายได้เกษตรกรเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 16.9 ต่อปี) และ 2) ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงความนิยมจากรถที่มีขนาดใหญ่ มาเป็นรถที่มีขนาดกลางและเล็กมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าปัญหาความวุ่นวายการเมืองจะเริ่มเห็นผลกระทบอย่างชัดเจนได้ในเดือนพ.ค.53 เป็นต้นไป

ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 58.9 ต่อปี จากการชะลอลงของปริมาณการจำหน่ายรถปิคอัพ ที่ขยายตัวร้อยละ 22.4 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวที่ร้อยละ 60.4 ต่อปี ตามแนวโน้มของการลงทุนภาคเอกเอกชนที่มีสัญญาณการชะลอลง เนื่องจากปัจจัยทางเมืองที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ทำให้ประชาชนเริ่มชะลอการบริโภคและการลงทุนลงโดยเฉพาะการบริโภคในสินค้าคงทน

ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 28.1 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 32.1 ต่อปี (ซึ่งแม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ถือได้ว่ายังขยายตัวได้ในระดับสูง) โดยได้รับปัจจัยบวกจาก รายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบจากปัจจัยการเมืองจะเห็นผลชัดเจนได้ในเดือนพ.ค.53 เป็นต้นไป

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 53 หดตัวที่ร้อยละ -0.5 ต่อปีจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -0.2 ต่อปี ตามการลดลงของผลผลิตสำคัญได้แก่ ข้าวนาปรัง และมันสำปะหลัง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ประกอบกับได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคระบาดและศัตรูพืช (เพลี้ยน้ำ ตาลกระโดดในข้าว และเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง) ในขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญอื่นๆ เช่น ยางพารา ผลผลิตเพิ่มขึ้นตามราคายางที่ยังขยายตัวในระดับสูง

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี (เป็นการขยายตัวเป็น เดือนที่ 6 ติดต่อกัน) จากการขยายตัวของราคาผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตในประเทศและของโลกลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรหลัก เช่น อินเดีย บราซิล และเวียดนาม ในขณะที่ไทยมีผลผลิตลดลงเนื่องจากปัญหาโรคระบาดและภัยแล้ง

มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 ที่ร้อยละ 35.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.9 ต่อปี และหากหักผลทางฤดูกาลออกแล้ว จะหดตัวที่ร้อยละ -2.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า จากการชะลอตัวในทุกหมวดสินค้าสำคัญ ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป โดยปริมาณการส่งออกขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี ในขณะที่ราคาขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 12.1 ต่อปี ในขณะที่มูลค่านำเข้าสินค้ารวมในเดือนเม.ย. 53 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 46.0 ต่อปี ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 59.7 ต่อปี หรือ หดตัวร้อยละ -5.5 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการนำเข้าที่ขยายตัวชะลอลงในหลายหมวดสินค้า ตามสินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม มูลค่านำเข้าที่สูงกว่ามูลค่าส่งออกสินค้าทำให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย. 53 ขาดดุลที่ -226.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ระดับ 99.3 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 101.6 โดยเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และเป็นการปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 100 เป็นครั้งแรกในรอบปี เนื่องจากการลดลงขององค์ประกอบทุกตัว อาทิ เช่น ยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเร่งผลิตไปช่วงก่อนหน้าวันหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ และความกังวลต่อปัญหาการชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อและรุนแรง ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือน ณ เดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ 107.4 ค่อนข้างทรงตัวจากเดือนมี.ค. 53 ที่อยู่ในระดับ 107.2 เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงกังวลสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงขณะเดียวกันก็รอดูมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ร้อยละ 23.0 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 33.0 ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 33.0 83.0 และ 43.5 ต่อปี และสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการคำนวณที่ต่ำเป็นพิเศษในช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ หากปรับผลทางฤดูกาลแล้วเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ -1.4 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนเม.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 57.9 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเม.ย. 53 มีจำนวน 1.08 ล้านคน หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ร้อยละ -0.2ต่อปี และเมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังปรับผลทางฤดูกาล หดตัวลงในระดับสูงที่ร้อยละ -14.1 ต่อเดือน แสดงถึงผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง

Economic Indicators: Next Week

ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์และเหล็กภายในประเทศในเดือนเม.ย. 53 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 9.0 และ 15.0 ต่อปี ตามลำดับ ตามการฟื้นตัวของการของการลงทุนภายในประเทศเริ่มชัดเจนมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ