รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 1, 2010 10:29 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 มิถุนายน 2553

Summary:

1. อุตสาหกรรมยานยนต์พุ่งแรง ฟื้นตัวรวดเร็วเป็นรูปตัววี (V) ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้กระแสบอลโลกหนุนยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าพุ่ง

3. เศรษฐกิจอินเดียสดใส ขยายตัวร้อยละ 8.6 ไตรมาสแรกปี 53

Highlight:
1. อุตสาหกรรมยานยนต์พุ่งแรง ฟื้นตัวรวดเร็วเป็นรูปตัววี (V) ส่งผลให้ขาดแคลนวัตถุดิบ
  • สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผย อุตสาหกรรมยานยนต์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.- เม.ย.) มีอัตราการเติบโตเป็นอย่างมาก ทั้งตลาดใน และต่างประเทศ ทำให้มีคาดว่ายอดการผลิตรถยนต์ในไทยปีนี้ อาจจะปรับเพิ่มจากเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ 1.4 ล้านคัน เป็น 1.5-1.6 ล้านคัน ส่งผลให้คาดว่าอาจจะขาดแคลนวัตถุดิบ โดยโควตาเหล็กที่ได้รับอนุมัตินำเข้าจากญี่ปุ่น 4.7 แสนตัน ภายใต้ข้อตกลง JTEPA อาจจะหมดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ จนต้องหันมานำเข้าเหล็กนอกโควตาแทน ซึ่งจะส่งผลต้นทุนพุ่ง 5-10%
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 5.4 ของผลผลิตอุตสาหกรรมรวมนั้น เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 55 ดังนั้น การที่ประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนและโอเชียเนีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกรถยนต์หลักขยายตัวที่ดีหว่าคาด จึงส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ของไทย นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงาน(อีโคคาร์) และจากการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบAFTAของชิ้นส่วนยานยนต์ ยังส่งผลให้การผลิตลการส่งออกยานยนต์ของไทยดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีแผนรองรับและแก้ไขปัญหาวัตถุดิบและแรงงานที่ขาดแคลน ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดเดือนเม.ย. 53 พบว่า ผลผลิตยานยนต์ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 83.0 ต่อปี แต่หากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ -0.6
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้กระแสบอลโลกหนุนยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าพุ่ง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้ามีสัญญาณการฟื้นตัวทั้งในตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ตามทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มปรับตัวดีขึ้น และเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเฉพาะในปี 53 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าบางประเภทจะได้รับปัจจัยหนุนต่อการเติบโต เช่น กระแสฟุตบอลโลก “World Cup 2010” ทำให้คาดว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี 53 น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาพรวมการบริโภคภาคเอกชนในเดือน เม.ย. 53 โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน ที่วัดจากปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง พบว่ายังขยายตัวได้ดีร้อยละ 28.1 และ 64.4 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายต่อเนื่องเช่นกัน (ในไตรมาสที่ 1 ปี 53 ขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี) สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคภาคเอกชนยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เช่น รายได้เกษตรกร และการจ้างงานที่ยังขยายตัวได้ดี อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่า การบริโภคภาคเอกชนอาจปรับตัวลดลงในระยะต่อไป อันเป็นผลจากความวุ่นวายทางการเมืองที่เริ่มรุนแรงขึ้น ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดเดือนเม.ย. 53 ที่อยู่ที่ระดับ 67.2 ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
3. เศรษฐกิจอินเดียสดใส ขยายตัวร้อยละ 8.6 ไตรมาสแรกปี 53
  • ทางการอินเดียได้ประกาศตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไตรมาสที่ 1 ปี 53 (หรือไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ 52/53) เติบโตที่ร้อยละ 8.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 6 เดือน ผลจากการบริโภคทั้งภาครัฐและเอกชน ในด้านอุปทาน ภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นส่วนผลักดันอัตราการเติบโตที่สูงนี้ ทั้งนี้ ทางการอินเดียคาดการณ์ว่าในปีงบประมาณ53/54 (เม.ย.53 - มี.ค.54) เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ร้อยละ 8.5 ต่อปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินเดียขับเคลื่อนด้วยอุปสงค์ภายในประเทศ จึงไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ และวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของภาคเกษตรซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 17 ของ GDP รวม หลังจากที่อินเดียประสบปัญหาภัยแล้งจนไม่สามารถผลิตพืชผลสำคัญได้เท่าที่ควร ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวดีที่ร้อยละ 16.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางอินเดียอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อที่เริ่มรุนแรงขึ้น โดยล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของอินเดียในไตรมาส 1 ปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 9.7 ต่อปี ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอลงเล็กน้อย ทั้งนี้ สศค.คาดการณ์ว่า ในปี 53 เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตที่ร้อยละ 7.0 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ