AFTA เป็นเป้าหมายหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งนำไปสู่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)
จากการรวมรวบผลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อเศรษฐกิจไทยและอาเซียน พบว่า AFTA ส่งผลให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-regional Trade) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมาด้วย
การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบ AFTA เป็นเพียงความสำเร็จในขั้นแรกของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ความท้าทายในระยะต่อไป อยู่ที่ความคืบหน้าของอาเซียนในการดำเนินตามพันธกิจหลักอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม สำหรับนัยต่อประเทศไทย ในระยะสั้น รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA ในระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเอกชนไทยให้กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (ASEAN Company)
เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Agreement: AFTA) ได้ถูกจัดทำขึ้นในปี 2535 ภายใต้สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(Association of South East Asian Nations: ASEAN) โดยเป็นปัจจัยสำคัญในการขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก ผ่านการลดอัตราภาษีศุลกากรและข้อจำกัดทางการค้าอื่น ๆ ที่มิใช่ภาษี(Non-Tariff Barriers) และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรีระหว่างประเทศสมาชิก อันจะนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) อย่างแท้จริง
ในปี 2546 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานเพื่อมุ่งไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดยมีเป้าหมายย่อยในการ (1) ส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน (2) เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน (3)พัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และ (4) บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้กำหนดกรอบระยะเวลาให้ดำเนินการสำเร็จลุล่วงภายในปี 2558 เพื่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น ในการนี้ อาเซียนได้จัดทำแผนงานเพื่อการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) อันเป็นการกำหนดทิศทางการดำเนินงานในด้านเศรษฐกิจของอาเซียนให้ชัดเจนตามระยะเวลาที่กำหนด ดังมีสาระสำคัญคือ
1.1 การปรับลดอัตราภาษีศุลกากร โดย ประเทศสมาชิกจะต้องปรับลดภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ทุกรายการในบัญชี Inclusion List (IL) ภายในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ และภายในปี 2558 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ 2 โดยในส่วนของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ ให้ลดภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) เหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ภายในวันที่ 1 มกราคม 2546 และลดให้เป็นร้อยละ 0 ภายในปี 2553 และในส่วนของประเทศสมาชิกใหม่กำหนดให้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ให้ได้มากที่สุด เช่น ประเทศเวียดนาม ประเทศกัมพูชา ประเทศลาวและประเทศพม่า กำหนดให้เริ่มต้นลดภาษีภายในปี 2543 ปี 2553 ปี 2551 และ 2551ตามลำดับ
1.2 การยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี กรอบการตกลง AFTA กำหนดให้ประเทศสมาชิกอาเซียนยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีภายใน 5 ปี หลังจากที่ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ปรับลดภาษีลงแล้ว และให้ยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณ(Quantitative Restriction) ทันทีสำหรับสินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ นอกจากนี้ ให้พัฒนากฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) ด้วยการทบทวนกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าที่ใช้โดยประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งในภาพรวมและรายประเทศ อำนวยความสะดวกทางการค้า ปรับประสานกฎระเบียบ ขั้นตอนและวิธีการ ให้เป็นแนวเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนทางธุรกรรมในอาเซียนและช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน
1.3 การเคลื่อนย้ายบริการเสรี โดยการลดข้อจำกัดต่อผู้ให้บริการของอาเซียน การให้บริการและการประกอบธุรกิจในประเทศสมาชิกอื่น การเจรจาการค้าบริการบางสาขา เช่น การเงินและการขนส่งทางอากาศ โดยยกเลิกข้อกีดกันการเปิดเสรีการค้าบริการตามข้อตกลงภายใต้ AEC Blueprint ใน 4 สาขาสำคัญ ได้แก่ ขนส่งทางอากาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพและท่องเที่ยว ภายในปี 2553 และบริการโลจิสติกส์ ภายในปี 2556
1.4 การเคลื่อนย้ายการลงทุนเสรี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนโดยภายใต้กรอบความตกลงเขตการลงทุนของอาเซียนระบุให้มีการเปิดเสรีในทุกภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ การผลิตเกษตร ประมง ป่าไม้และเหมืองแร่ และบริการที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) แก่นักลงทุนและการลงทุนที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ การเปิดเสรีการลงทุนใหม่และการนำผลกำไรกลับมาลงทุนใหม่จะช่วยสนับสนุน และพัฒนาเศรษฐกิจภายในของอาเซียน
1.5 การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือเสรี โดยการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสำหรับบุคคลธรรมดาที่เกี่ยวข้องกับการค้าสินค้า บริการ และการลงทุน เช่น การออกวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญและแรงงานฝีมือ
ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรีนับเป็นเป้าหมายที่อาเซียนได้มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ดังนั้น ในส่วนต่อไปจะกล่าวถึงผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อการค้า สวัสดิการทางเศรษฐกิจ (Economic Welfare) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) ของประเทศสมาชิกอาเซียน
ในส่วนนี้ ผู้เขียนได้รวมรวบผลการศึกษาวิจัยต่าง ๆ เกี่ยวกับผลกระทบของการเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบ AFTA ต่อเศรษฐกิจไทยและอาเซียน โดยได้แบ่งออกเป็นผลกระทบด้านการค้า ด้านสวัสดิการทางเศรษฐกิจ และด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
2.1 ด้านการค้า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าการรวมกลุ่มทางการค้าและการปรับลดอัตราภาษีศุลกากร จะส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศสมาชิกมากขึ้น (Trade Creation) เนื่องจากราคาของสินค้าที่นำเข้าลดลง ทำให้มีการแบ่งกันผลิตตามความชำนาญของแต่ละประเทศซึ่งสอดคล้องกับหลักการได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) อันจะนำมาซึ่งสวัสดิการทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศสมาชิกที่สูงขึ้น
จากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่า การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนที่ให้ประเทศสมาชิกลดอัตราภาษีศุลกากรลงเหลือร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 5 ภายในปี 2553 และ 2558 และยกเลิกมาตรการจำกัดปริมาณการค้า นั้น ได้ส่งผลให้สัดส่วนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (Intra-regional Trade) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 19.2 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียน ในปี 2536 มาเป็นร้อยละ 25.1 และร้อยละ 26.8 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของอาเซียน ในปี 2546 และ ปี 2551
สำหรับประเทศไทย กรอบการค้าเสรี AFTA กำหนดให้ไทยต้องลดภาษีสินค้าลงเหลือร้อยละ 0 ในสินค้า 8,287 รายการหรือคิดเป็นร้อยละ 99.8 ของสินค้าทั้งหมด ยกเว้นสินค้าอ่อนไหว 4 รายการ (13 ประเภทย่อย) ได้แก่ กาแฟ ไม้ตัดดอกมะพร้าวแห้ง และมันฝรั่ง ให้ลดภาษีลงเหลือร้อยละ 5 ภายในปี 2553 โดยที่ผ่านมา ไทยได้เริ่มปรับลดภาษีสินค้าดังกล่าวลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา ส่งผลให้การค้าระหว่างไทยและกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวเป็นอย่างมาก จากตารางที่ 2 พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 10,874 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2542 มาเป็น40,152 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2551 หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 270 ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 7,907 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2542 มาเป็น 29,662 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา ประเทศไทยเกินดุลการค้ากับอาเซียนมาโดยตลอด ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การปรับลดอัตราภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA เป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนให้เพิ่มมากขึ้น และประเทศไทย ได้รับอานิสงค์จากการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าว ผ่านการส่งออกและนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้น
2542 2543 2544 2545 2546 2547 2548 2549 2550 2551 สินค้าออก 10,874 13,498 12,600 13,569 16,486 21,238 24,390 27,022 32,792 40,152 % YoY 24.1% -6.6% 7.7% 21.5% 28.8% 14.8% 10.8% 21.4% 22.5% สินค้าเข้า 7,907 10,346 10,014 10,819 12,490 15,834 21,624 23,599 25,068 29,661 % YoY 30.8% -3.2% 8.0% 15.5% 26.8% 36.6% 9.1% 6.2% 18.3% ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย (2552) หมายเหตุ: ปี 2542 เป็นปีแรกที่ประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับลดภาษีตามกรอบ AFTA จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสมาชิกผ่านการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อประเทศสมาชิกผ่านการเบี่ยงเบนการค้า (Trade Diversion) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นเมื่อการปรับลดอัตราภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA ส่งผลให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำเข้าสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าจากประเทศสมาชิกอีกประเทศหนึ่ง ทดแทนการนำเข้าเดิมจากประเทศที่มิใช่สมาชิกซึ่งมีต้นทุนที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ ในทางทฤษฎี การเบี่ยงเบนการค้าจะทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจลดลง ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรระหว่างประเทศที่ไม่มีประสิทธิภาพ และทำให้การผลิตเกิดขึ้นในแหล่งที่ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ ดังนั้น เขตการค้าเสรีอาเซียนจะก่อให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อประเทศสมาชิกหรือไม่ ต้องพิจารณาถึงผลสุทธิระหว่างการสร้างเสริมการค้าและการเบี่ยงเบนการค้า ถ้าผลทางการเสริมสร้างการค้ามีมากกว่าการเบี่ยงเบนการค้าอาจกล่าวได้ว่าการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากผลทางการเบี่ยงเบนการค้ามีมากกว่าการส่งเสริมการค้าอาจกล่าวได้ว่า การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกลดลง ทั้งนี้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสวัสดิการทางเศรษฐกิจ (Economic welfare) และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic growth) 2.2 ด้านสวัสดิการทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Welfare) จากการศึกษาของ ภัควรัทย์ เลิศวิริยะนุกุล (2551) พบว่า AFTA จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในระดับอุตสาหกรรม กล่าวคือ การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศมาเลเซียและประเทศไทยมีมูลค่าสวัสดิการสุทธิโดยรวมสูงขึ้น โดยคิดเป็นมูลค่าสวัสดิการต่อคนที่ 10 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน และ 6.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนตามลำดับ ในขณะที่ การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศอินโดนีเซียและประเทศฟิลิปปินส์มีมูลค่าสวัสดิการสุทธิโดยรวมลดลงที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนและ 1.6 ดอลลาร์สหรัฐต่อคน ตามลำดับ และเมื่อพิจารณามูลค่าสวัสดิการสุทธิตามกลุ่มสินค้า ภัควรัทย์ เลิศวิริยะนุกุล (2551)พบว่า สินค้าประเภทเฟอร์นิเจอร์ไม้และเฟอร์นิเจอร์หวายเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับประโยชน์จาก AFTA มากที่สุด เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการลดภาษีมากที่สุด ตารางที่ 3 การประเมินผลกระทบต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA ปี 2558 จากกรณีฐานปี 2547 หน่วย: ร้อยละ (ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) AFTA AFTA+ ASEAN 0.8 2.9 กัมพูชา 2.7 5.4 อินโดนีเซีย 0.2 1.4 ลาว 0.6 2.5 พม่า 0.3 1.2 มาเลเซีย 1.4 1.5 ฟิลิปปินส์ 0.6 1.6 สิงคโปร์ 1.6 9.0 ไทย 0.6 3.9 เวียดนาม 1.1 1.8 บรูไน 2.6 5.4 ที่มา: Michael G. Plummer และ Chia Siow Yue (2552) หมายเหตุ: AFTA กรณีที่ประเทศสมาชิกปรับลดอัตราภาษีศุลกากรในทุกรายการสินค้าเหลือร้อยละ 0 AFTA+ กรณีที่ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งหมด นอกจากนี้ การศึกษาของ Michael G. Plummer และ Chia Siow Yue (2552) พบว่า หากประเทศสมาชิกอาเซียนปรับลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 ในทุกรายการสินค้าในปี 2558 จะทำให้สวัสดิการทางเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในกรณีที่ประเทศสมาชิกยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งหมด สำหรับประเทศไทย สวัสดิการทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในกรณีที่ไทยลดอัตราภาษีลงเหลือร้อยละ 0 และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ในกรณีที่ไทยยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษี ดังแสดงในตารางที่ 3 สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่พบว่า การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทำให้สวัสดิการทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มสูงขึ้น 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสวัสดิการสูงขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ในปี 2548 จากฐานข้อมูลปี 2544 ดังปรากฏในตารางที่ 4 ตารางที่ 4 ผลกระทบของการลดภาษีศุลกากรภายใต้กรอบ AFTA ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม สวัสดิการทางเศรษฐกิจ 560 210 512 215 919 357 (ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 0.85 0.52 0.32 0.78 1.97 0.57 (ร้อยละ) ที่มา: สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2551) 2.3 ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในปี 2551 พบว่า การเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนภายใต้กรอบ AFTA จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น โดยในส่วนของประเทศไทยนั้น จากการศึกษาพบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.85 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นอันดับที่ 2 รองจากสิงคโปร์ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.97 ขณะที่จะทำให้ประเทศมาเลเซียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดที่ร้อยละ 0.32 ดังปรากฏในตารางที่ 4 แม้ว่าการลดอัตราภาษีนำเข้าภายใต้กรอบ AFTA อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำและไม่มีความสามารถในเชิงแข่งขัน แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะส่งผลดีต่อผู้ผลิตและผู้ส่งออกผ่านการนำเข้าวัตถุดิบในราคาที่ต่ำลง อันเป็นการสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน 3. บทสรุป กล่าวโดยสรุป ในภาพรวมการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนนั้น ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของการค้าระหว่างประเทศสมาชิกอย่างชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสวัสดิการทางเศรษฐกิจและการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม การเปิดการค้าเสรีภายใต้กรอบ AFTA เป็นเพียงความสำเร็จในขั้นแรกของการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ดังนั้น ความท้าทายในระยะต่อไป อยู่ที่ความคืบหน้าของอาเซียนในการดำเนินตามพันธกิจหลักอื่นๆ อย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมการเป็นตลาดและฐานการผลิตร่วมกันในด้านบริการ การลงทุนและการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเสมอภาค และบูรณาการเศรษฐกิจอาเซียนให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ หากอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายในการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ความเป็นไปได้ที่อาเซียนจะพัฒนาเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการบูรณาการนโยบายด้านเศรษฐกิจและการเงินในลักษณะเช่นเดียวกันกับสหภาพยุโรป ทั้งนี้ อาเซียนควรต้องพินิจพิจารณาว่าการรวมกลุ่มที่เข้มข้นขึ้นกว่า AEC ในรูปแบบใดจะเหมาะสมกับบริบทของอาเซียนมากที่สุด กล่าวคือ หลังปี 2558 อาเซียนควรมุ่งไปสู่การรวมกลุ่มแบบ Customs Union หรือ ใช้เงินสกุลเดียวกันแบบ Common Currency Area ดังเช่นในสหภาพยุโรปหรือไม่ สิ่งที่ดีที่สุดในขณะนี้ คือการจับตามองประสบการณ์และปัญหาจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปโดยเฉพาะปัญหาหนี้สินที่สูงของประเทศกรีซ สำหรับนัยต่อประเทศไทย ในระยะสั้น รัฐบาลควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามาใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบ AFTA เพิ่มมากขึ้นเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์สูงสุด สำหรับในระยะปานกลางถึงระยะยาว รัฐบาลควรสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อลดผลกระทบจากการเปิดการค้าภายใต้กรอบ AFTA และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน รวมทั้งแรงงานมีฝีมืออย่างเสรีระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบริษัทเอกชนไทยให้กลายเป็นบริษัทระดับภูมิภาค (ASEAN Company) ที่มีเครือข่ายการค้าและการลงทุนภายในอาเซียน อันเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทไทยก้าวไปสู่บริษัทระดับสากลได้ ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th