ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2553) และในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 14, 2010 09:13 —กระทรวงการคลัง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2553) ประจำปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐบาล (รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) มีรายได้ทั้งสิ้น 569,359.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของ GDP เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว 85,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.8 ขณะที่รายจ่ายภาครัฐบาลมีจำนวน 614,282.8 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 20,631.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2 ส่งผลให้ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 99,218.8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วถึงร้อยละ 46.4 เกิดจากการเพิ่มสูงขึ้นของการจัดเก็บรายได้ทั้งของรัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกองทุนนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน

รายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จาก www.fpo.go.th

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3584

ฐานะการคลังภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น)

ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 2 (มกราคม — มีนาคม 2553)

และในช่วง 6 เดือนแรก (ตุลาคม 2552 — มีนาคม 2553) ของปีงบประมาณ 2553

ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. (ระบบ Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาส

ที่ 2 (มกราคม - มีนาคม 2553) ประจำปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น )

อัดฉีดเงินสุทธิเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหรือขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 99,218.8 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP

ขาดดุลลดลงจากระยะเวลาเดียวกันปีที่แล้ว 85,930.1 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน โดยรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลใน ไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2553 1.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 569,359.2 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้ว 85,910.2 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.8 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ

3 กรมหลักเพิ่มขึ้นได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิตน้ำมัน และรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ อากร

ขาเข้า ตามลำดับ ส่งผลให้รายได้รัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48,393.7 และ 22,140.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.4 และ 25.2 ตามลำดับ ส่วนบัญชีเงินนอกงบประมาณ (กองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ) มีรายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15,375.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.4 เนื่องจากได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

1.2. รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง มีจำนวน 614,282.8 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีที่แล้ว 20,631.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.2

เนื่องจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลลดลงโดยมีจำนวน 497,062.4 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 50,062.6

ล้านบาท หรือร้อยละ 9.2 ขณะที่ อปท. คาดว่าจะมีรายจ่ายจำนวน 86,625.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว

ร้อยละ 58.4 และรายจ่ายจากบัญชีเงินนอกงบประมาณและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาลรวม 30,400.1

ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.9 ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเบิกจ่ายของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนรายจ่ายเงินกู้ต่างประเทศมีการเบิกจ่าย 194.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 118.3

ล้านบาท

1.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากการที่รายจ่ายสูงกว่ารายได้ทำให้ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 99,218.8 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.0 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วจำนวน

85,930.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.4 ของ GDP สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้ ในไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลทั้งสิ้น 77,187.6 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.8 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 154,076.9 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP)

2. ฐานะการคลังตามระบบ สศค. 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — มีนาคม 2553)

2.1 รายได้ภาครัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,102,130.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11.3 ของ GDPเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 19.8 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้รัฐบาล และบัญชีเงินนอกงบประมาณ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 1) รัฐบาลมีรายได้รวม 695,274.6 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 7.1 ของ GDP) เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 20.9 ทั้งนี้ เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมหลัก (กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร) ที่เพิ่มขึ้น และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คาดว่าจะมีรายได้ทั้งสิ้น 201,435.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP และเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 30.8 ทั้งนี้เนื่องจากการเงินที่รัฐบาลแบ่งให้ อปท. เพิ่มขึ้น 3) บัญชีเงินนอกงบประมาณซึ่งประกอบด้วยกองทุนนอกงบประมาณและเงินฝากนอกงบประมาณ มีรายได้รวม 205,420.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 7.4

2.2 รายจ่ายของภาครัฐบาล (รวมการให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) ซึ่งมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจริง มีจำนวน 1,302,920.9 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.4 ของ GDP เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 2.7 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 940,643.4 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.7 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 10.5 ของ GDP) และต่ำกว่าปีที่แล้ว 6,147.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.6 2) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคาดว่าจะมีจำนวนทั้งสิ้น 154,222.0 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP (ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 1.5ของ GDP) และสูงกว่าปีที่แล้ว 19,093.0 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.1 3) เงินกู้ต่างประเทศ (Project Loans) มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 450.4 ล้านบาท ต่ำกว่าปีที่แล้ว 42 ล้านบาท 4) บัญชีเงินนอกงบประมาณ (รวมรายจ่ายและเงินให้กู้หักชำระคืนตามนโยบายรัฐบาล) จำนวน 207,605.2 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วจำนวน 21,247.0 คิดเป็นร้อยละ 144.3 ซึ่งมีสาเหตุจากรายจ่ายของกองทุนเพิ่มขึ้น เช่น รายจ่ายเพื่อชดเชยราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น

2.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล ขาดดุลการคลังจำนวน 200,790.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.1 ของ GDP ขาดดุลลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วที่ขาดดุลจำนวน 147,715.2 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42.4 ของ GDP สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่รวมรายได้และรายจ่ายดอกเบี้ย และการชำระคืนต้นเงินกู้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ขาดดุลทั้งสิ้น 178,510.3 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.8 ของ GDP) ในขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วขาดดุล 284,895.4 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 3.1 ของ GDP)

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 75/2553 11 มิถุนายน 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ