ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2553 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 14, 2010 09:15 —กระทรวงการคลัง

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เผยในเดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.76 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้า 2.7 พันล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิสูงกว่าเป้าหมายกว่า 2.1 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 23.2

เดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเป็นจำนวนสูงถึง 276,095 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 เนื่องจากเดือนนี้ครบกำหนดการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 (ภงด.50) ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 126,907 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,899 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การบริโภคและการนำเข้าที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องส่งผลให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าประมาณการ 7,167 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณ 22,078 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้

ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — พฤษภาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,123,449 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 211,869 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.2 สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษีรถยนต์ รวมทั้งการได้รับเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม 2553 ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมดังกล่าว ได้ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจากการบริโภคและ การนำเข้าชะลอตัวลงเล็กน้อย

นายสาธิตฯ สรุปว่า “แม้ว่าเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะส่งผลกระทบ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจัดเก็บรายได้รัฐบาล แต่กระทรวงการคลังยังมั่นใจว่า จะสามารถ จัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้จำนวน 1.522 ล้านล้านบาท (ไม่รวมรายรับจากการยึดทรัพย์ฯ 49.016 พันล้านบาท) อย่างแน่นอน”

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนพฤษภาคม 2553 และในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553

ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนพฤษภาคม 2553 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 276,095 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2,725 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — พฤษภาคม 2553) จัดเก็บได้ 1,123,449 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ ตามเอกสารงบประมาณ 211,869 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

          1. เดือนพฤษภาคม 2553  รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิเป็นจำนวนสูงถึง 276,095 ล้านบาท      สูงกว่าประมาณการ 2,725 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.0 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.1) เนื่องจาก   เดือนนี้ครบกำหนดการยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิรอบสิ้นปีบัญชี 2552 (ภงด.50) ส่งผลให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 126,907 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 7,899 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังของปี 2552 ที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้  นอกจากนี้ การบริโภคและ       การนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่องส่งผลให้จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้สูงกว่าประมาณการ 7,167  ล้านบาท

แต่อย่างไรก็ดี ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณ 22,078 ล้านบาท เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้ ต่ำกว่าประมาณการ 4,165 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้นำส่งรายได้ จำนวน 5,635 ล้านบาท เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2553 โดยคาดว่าจะนำส่งรายได้ในเดือนมิถุนายน 2553 และธนาคารออมสินได้นำส่งรายได้ จำนวน 4,592 ล้านบาท ล่วงหน้าแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการจำนวน 1,414 และ 1,259 ล้านบาท ตามลำดับ

2. ในช่วง 8 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552 — พฤษภาคม 2553) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,123,449 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 211,869 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 23.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 27.9) สาเหตุหลักมาจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าประมาณการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีน้ำมัน และภาษี รถยนต์ รวมทั้งการได้รับเงินจากการยึดทรัพย์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาท เมื่อเดือนเมษายน 2553 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ในเดือนพฤษภาคม 2553 ในส่วนของการบริโภคชะลอตัวลงเล็กน้อยหลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมดังกล่าว

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 794,020 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 69,468 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 9.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 13.3)

ภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 60,404 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.5 เป็นผลจากการบริโภคและการนำเข้าที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการร้อยละ 33.2 และขยายตัวสูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.9 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคในประเทศสูงกว่าประมาณการร้อยละ 15.6 และมีการขยายตัวจากช่วงเดียวกันของ ปีที่แล้วร้อยละ 10.0 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าในเดือนพฤษภาคม 2553 การจัดเก็บภาษีมูลเพิ่มจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง รวมทั้งมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง โดยการขยายระยะเวลาการยื่นชำระภาษีออกไปจากปกติ
  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 17,647 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.7 เป็นผลจากภาษีที่จัดเก็บได้จากฐานเงินเดือนและฐานอสังหาริมทรัพย์ที่สูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้เป็นสำคัญ

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 272,690 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 76,717 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 39.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 51.7) เนื่องจากมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน สุรา เบียร์ และยาสูบ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ส่งผลให้จัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษียาสูบ ภาษีเบียร์ และสุรา สูงกว่าประมาณการ 37,882 8,350 6,927 และ 2,415 ล้านบาท หรือร้อยละ 58.2 31.0 20.0 และ 8.9 ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังจัดเก็บภาษีรถยนต์ได้สูงกว่าประมาณการ จำนวน 20,439 ล้านบาท หรือร้อยละ 72.6 เป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และโครงการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างมาก

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 64,272 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 15,357 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.8) เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 14,218 ล้านบาท หรือร้อยละ 30.0 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2552 —เมษายน 2553) มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐและเงินบาท ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 26.3 และ 20.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ รายได้อื่นจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการถึง 1,236 ล้านบาท หรือร้อยละ 92.9 เป็นผลจากในเดือนเมษายน 2553 กรมศุลกากรได้มีรายได้จากค่าปรับคดีสูงถึง 897 ล้านบาท

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 62,135 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 593 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 9.9) เนื่องจากบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้นำส่งรายได้ จำนวน 5,635 ล้านบาท เพราะอยู่ระหว่างดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2553 โดยคาดว่าจะนำส่งรายได้ในเดือนมิถุนายน 2553 นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง นำส่งรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 1,996.23 1,798.53 และ 945.93 ล้านบาท ตามลำดับ โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคขอทยอยนำส่งรายได้เป็น 6 งวดจากเดิมที่คาดว่าจะส่งทั้งจำนวนในเดือนเมษายน และการไฟฟ้า นครหลวงยังไม่ได้นำส่งรายได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการสอบทานงบการเงิน อย่างไรก็ดี การนำส่งรายได้และ การจ่ายเงินปันผลของธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนรวมวายุภักษ์ และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สูงกว่าประมาณการ 2,600 1,552 1,100 และ 1,097 ล้านบาท ตามลำดับ

          2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บได้รวม 106,012 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 52,321 ล้านบาท         คิดเป็นร้อยละ 97.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 83.3) เนื่องจากกระทรวงการคลังได้รับโอนเงินจากการยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จำนวน 49,016 ล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 ประกอบกับในเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมามีรายได้จากการไถ่ถอนหุ้นกู้ด้วยสิทธิที่ครบกำหนดของกระทรวง การคลังจำนวน 3,447 ล้านบาท

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร 139,479 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสาร งบประมาณ 5,178 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.6 (ต่ำกว่าปีที่แล้วร้อยละ 0.8) ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 99,679 ล้านบาท และการคืนภาษีอื่นๆ 39,800 ล้านบาท โดยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการ 14,321 ล้านบาท แต่การคืนภาษีอื่นๆ สูงกว่าประมาณการ 9,143 ล้านบาท

2.7 การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อปท. ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณได้มีการจัดสรรให้ภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ อปท. แล้ว 2 งวด จำนวนรวมทั้งสิ้น 22,038 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 4,338 ล้านบาท (ร้อยละ 24.5) และสูงกว่าปีที่ 5,028 ล้านบาท (ร้อยละ 29.6)

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3500 และ 3545

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 76/2553 11 มิถุนายน 53--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ