รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 14, 2010 11:32 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 มิถุนายน 2553

Summary:

1. ผวาวิกฤติยุโรปกระทบส่งออก

2. ภาระดอกเบี้ยผู้ประกอบการเดือน เม.ย. พุ่ง

3. คลังญี่ปุ่นเล็งลดหนี้สาธารณะ

Highlight:
1. ผวาวิกฤติยุโรปกระทบส่งออก
  • สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจโลกในปี 53 ใหม่ โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 3.9 - 4.3% เนื่องจากเศรษฐกิจของเอเชีย ในไตรมาสแรกจะปรับตัวสูงขึ้นมากทั้งญี่ปุ่น จีน หรือแม้แต่อาเซียน ซึ่งรวมถึงไทยที่เศรษฐกิจในไตรมาสแรกขยายตัวสูงถึง 12% ขณะที่ความต้องการบริโภคภายในประเทศของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญโดยเฉพาะสหรัฐ และญี่ปุ่นได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือยังมีปัจจัยเสี่ยงจากวิกฤติการณ์การคลังในยุโรป และการดำเนินมาตรการจำกัดสินเชื่อในจีน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
  • สศค.วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 1 โดยเฉพาะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย ส่งผลให้คาดว่าสิ้นเดือนนี้ สศค. จะปรับประมาณการของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก 14 ประเทศเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อน ณ เดือนมี.ค. 53 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.2 -4.2 ต่อปี) สำหรับสถานการณ์ในทวีปยุโรปนั้น คาดว่าจะไม่กระทบการส่งออกของไทยมากนัก เนื่องจากกลุ่มประเทศที่ประสบปัญหาไม่ใช่ตลาดส่งออกหลักของไทย โดย สศค.คาดว่า การส่งออกของไทยในไตรมาส 2 จะยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางการเมือง
2. ภาระดอกเบี้ยผู้ประกอบการเดือน เม.ย. พุ่ง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยผลสำรวจสภาพคล่องของผู้ประกอบการในเดือน เม.ย. 53 พบว่า ผู้ประกอบการมีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่สภาพคล่องลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน เนื่องจากได้รับสินเชื่อจากสถาบันการเงินลดลง สะท้อนได้จากดัชนีการได้รับเครดิตจากสถาบันการเงินที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50.4 จากระดับ 50.9 ในเดือนก่อน นอกจากนี้ ยังพบว่ามีข้อจำกัดการดำเนินธุรกิจของจากปัญหาการเมืองเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • สศค.วิเคราะห์ว่า สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินเดือน เม.ย. 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.9 ต่อปี ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.0 ต่อปี จากความกังวลเกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่ยืดเยื้อและรุนแรงขึ้นได้ส่งผลให้สินเชื่อภาคธุรกิจลดลง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับภาระต้นทุนของผู้ประกอบคาดว่าน่าจะทรงตัวต่อไปตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 day) ที่ไม่น่าปรับขึ้นในระยะนี้ จากความเสี่ยงการเมืองในประเทศและสถานการณ์วิกฤตหนี้สาธารณะในประเทศกรีซ
3. คลังญี่ปุ่นเล็งลดหนี้สาธารณะ
  • นายโยชิฮิโกะ โนดะ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเปิดเผยวานนี้ (13 มิ.ย. 53) ว่า รัฐบาลจะทบทวนแผนการใช้จ่ายบางเรื่องที่รัฐบาลชุดก่อนได้รับปากไว้ โดยจะไม่เปลี่ยนแปลงทุกอย่างแบบฉับพลัน แต่จะทำอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนหนี่งของมาตรการควบคุมหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น ทั้งนี้ นายโนดะกล่าวว่า หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นสูงเกือบ 2 เท่าของจีดีพีซึ่งถือว่าร้ายแรงมาก ด้านนายนาโอโตะ คัง กล่าวในวันเดียวกันว่าอาจพิจารณาลดจำนวนเงินสดที่จะจ่ายเป็นค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่ครัวเรือน เนื่องจากข้อจำกัดทางการคลัง และในเดือนนี้รัฐบาลเตรียมจะประกาศเป้าหมายระยะกลางและระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาฐานะการคลัง รวมทั้งยุทธศาสตร์กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในวันศุกร์นี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงของญี่ปุ่นทำให้เกิดข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจดังเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรป ทั้งนี้ ล่าสุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสแรกของปี 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี (%yoy) หรือขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อไตรมาส (%qoq_sa) เนื่องจากการส่งออกและบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ โดยการบริโภคและการลงทุนภาครัฐส่งผลต่อจีดีพี (Contribution to GDP growth) ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งหากมาตรการด้านการคลังของรัฐบาลชะลอลงก็จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในระยะต่อไปได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ