รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 25, 2010 10:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 25 มิถุนายน 2553

Summary:

1. เสนอแผนควบรวมธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้

2. ธปท.ไม่ห่วงขึ้นเงินเดือนขรก.กระทบเงินเฟ้อ

3. การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 53 ได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

Highlight:
1. เสนอแผนควบรวมธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย พิจารณาอนุมัติภายในปีนี้
  • รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารธนชาต กล่าวถึงแผนการควบรวมธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย (SCIB) โดยจะยื่นแผนการให้ธนาคารแห่งประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ และจะดำเนินการควบรวมให้แล้วเสร็จภายในปี 2554 ทั้งนี้ ภายหลังการควบรวม ธนาคารธนชาตจะมีสินทรัพย์รวม 8 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 5 ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย
  • สศค.วิเคราะห์ว่า จากการที่ธนาคารพาณิชย์ 4 อันดับแรกในไทยได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ต่างมีทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาททั้งสิ้น และมีสัดส่วนทั้งทรัพย์สิน เงินฝาก และสินเชื่อรวมกันถึงกว่าร้อยละ 66 ในระบบธนาคาร การควบรวมของสองธนาคารขนาดกลางดังกล่าวจะทำให้ธนาคารธนชาตกลายเป็นธนาคารขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ใกล้เคียงกับธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่จะกลายเป็นธนาคารอันดับที่ 6 ซึ่งจะทำให้ลดการผูกขาดในตลาดธนาคารพาณิชย์ไทย และเพิ่มการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ทั้งทางด้านมาตรการดอกเบี้ยโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อย บริการ และสิทธิพิเศษอื่นๆ อีกทั้งการควบรวมดังกล่าว มีความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการตัดหนี้เสียของธนาคารนครหลวงไทยออกจากระบบ ซึ่งจะทำให้เงินทุนสำรองหนี้เสียในระบบลดลง ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินมากยิ่งขึ้น
2. ธปท.ไม่ห่วงขึ้นเงินเดือนขรก.กระทบเงินเฟ้อ
  • นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การจะปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในปี 2554 ไม่น่าส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก เพราะเม็ดเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้ในส่วนนี้มีวงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ถือว่าไม่มาก เพราะคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.3 ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และเป็นเงินงบประมาณที่เตรียมไว้ใช้จ่ายแต่แรกอยู่แล้ว ไม่ใช่การใช้งบประมาณเพิ่มเติม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเป็นเศรษฐกิจแบบเปิด ดังนั้นปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นในระบบจะไม่ส่งผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงดึงด้านอุปสงค์ (demand-pull inflation) แต่จะส่งผลให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นแทน อย่างไรก็ตาม หากความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ธปท. จะยังมีช่องทางในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้อีก เนื่องจากระดับปัจจุบันเป็นระดับที่ต่ำมากที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี
3. การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 53 ได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 53 ได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 32.1 ต่อปี (% yoy) จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 40.4 ต่อปี (% yoy) หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าจะหดตัวร้อยละ -1.2 (% mom) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าการส่งออกญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอตัวลงในไตรมาสที่ 2 ปี 53 และอาจส่งผลเชิงลบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2 ปี 53 เช่นเดียวกัน
  • ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าจะมีสัญญาณแผ่วลงบ้างเล็กน้อยจากการลดลงของการนำเข้าสินค้าเพื่อทดแทนสินค้าคงคลัง (Restocking) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของการขยายตัวในระดับสูงของการส่งออกญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1 ปี 53 การส่งออกญี่ปุ่นยังคงน่าที่จะขยายตัวได้ดีในระยะต่อไปจากพื้นฐานเศรษฐกิจคู่ค้าหลักที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะจีนและประเทศในภูมิภาคเอเชีย ซี่งเป็นปัจจัยบวกต่อการส่งออกสินค้าทุนและสินค้าบริโภคคงทน เช่น รถยนต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของญี่ปุ่น ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 53 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ