Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 มิถุนายน 2553
1. ครม.เศรษฐกิจ นำวาระสำคัญเพื่อประชุมเร่งหามาตรการช่วยเหลือการครองชีพประชาชน
2. ค่าเงินบาทเริ่มนิ่งขึ้น จากการที่นักลงทุนคลายความกังวลจากการปรับค่าเงินหยวน
3. อินเดียยกเลิกการตรึงราคาน้ำมัน กระตุ้นอัตราเงินเฟ้อ
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เผย ในสัปดาห์หน้าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาต่ออายุในการช่วยเหลือในเรื่องการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนต่อไป อาทิ เช่น รถเมล์ฟรี รถไฟฟรี รวมทั้งก๊าซหุงต้ม เนื่องมาจากครองชีพประชาชนที่ยังมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาราคาไข่ไก่ที่มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากในขณะนี้
- สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนมีเป้าหมายเพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน รวมทั้งเพื่อชะลอการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจากผลดำเนินมาตรการดังกล่าวของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาของ 5 มาตรการ 6 เดือน นั้น ได้ส่งผลดีต่อผู้มีรายได้น้อย และช่วยบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมถึงช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้การต่ออายุมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ต่อปี ซึ่งหากมิได้ต่ออายุมาตรการดังกล่าว อาจจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 0.8 ต่อปีจากกรณีฐาน
- ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลจีนปรับเปลี่ยนนโยบายควบคุมค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความวิตกถึงปัญหาค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น และทำให้ค่าเงินอื่นในภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย แต่คาดว่าค่าเงินบาทในขณะนี้เริ่มคงตัวแล้ว ภายหลังที่ปรับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยภายหลังการประกาศนโยบายดังกล่าว
- สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าการประกาศดำเนินนโยบายค่าเงินที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของจีน จะส่งผลต่อความผันผวนของตลาดเงินในระยะสั้น ซึ่งในส่วนของประเทศไทยทำให้ค่าเงินบาทผันผวนอยู่ในกรอบ 32.1-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงสัปดาห์หลังประกาศ แต่นโยบายดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลก (Global Imbalance) ในระยะปานกลาง นอกจากนี้จะส่งผลดีต่อไทยผ่านการค้า จะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่สองของไทย รองจากสหรัฐอเมริกา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 10.6 และทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับจีนได้ดีขึ้น ในด้านการลงทุน จีนจะสามารถมีโอกาสลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาจีนยังมีการลงทุนโดยตรงในประเทศไทยน้อยมากเพียง 29 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 52 ในด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนจะมีกำลังซื้อและเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทยในปี 2552
- เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 53 นายกรัฐมนตรีแมนโมฮัน สิง ของอินเดียอนุญาตให้ผู้ผลิตน้ำมันสามารถขึ้นราคาน้ำมันเบนซินร้อยละ 7.3 มาอยู่ที่ 51.43 รูปีหรือคิดเป็น 1.1 ดอลลาร์ฯ และสามารถขึ้นราคาน้ำมันดีเซลได้ร้อยละ 5.2 หลังรัฐบาลฯ พยายามลดการขาดดุลงบประมาณซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ซึ่งอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ทั้งนี้ รัฐบาลได้พยายามลดการขาดดุลงบประมาณด้วยการยกเลิกการให้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันมูลค่า 5.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 2.5 ของการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะเดียวกันการยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมันจะทำให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันของรัฐบาลและภาคเอกชนมีกำไรเพิ่มขึ้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากการที่ทางรัฐบาลอินเดียยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศจะส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวสูงขึ้น และทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในประเทศสูงขึ้น โดยตัวเลขล่าสุดอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอินเดียในเดือนพ.ค. 53 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 9.6 ต่อปี ซึ่งจะส่งผลให้ในช่วงที่เหลือของปี 53 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอินเดียอาจจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10.1 ต่อปี ประกอบกับการที่ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกเริ่มปรับตัวลดลงจึงเป็นเหตุผลหนึ่งให้รัฐบาลอินเดียยกเลิกเงินอุดหนุนราคาน้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ตาม การปรับตัวสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าในประเทศปรับตัวสูงขึ้นและทำให้ราคาสินค้าในตลาดปรับตัวสูงขึ้นตาม แต่จะช่วยให้การขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลลดลง
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th