Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 กรกฎาคม 2553
Summary:
1. พาณิชย์ปรับเป้าส่งออกปี 53 เป็น 18% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น
2. ภาวะโลกร้อนฉุดผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 10
3. การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน มิ.ย.53 ลดลง 1.25 แสนตำแหน่ง
Highlight:
1. พาณิชย์ปรับเป้าส่งออกปี 53 เป็น 18% หลังเศรษฐกิจโลกฟื้น
- รมว.พาณิชย์เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับเป้าหมายการส่งออกของประเทศในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 18 โดยคิดเป็นมูลค่า 178,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ ร้อยละ 14 โดยคิดเป็นมูลค่า 172,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกของไทยในช่วงที่ผ่านมามีอัตราการเจริญเติบโตดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และในช่วงครึ่งปีหลังกระทรวงพาณิชย์มีแผนการโรดโชว์มากขึ้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นำเข้าในต่างประเทศ โดยในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งเป็นช่วงสูงสุดของการส่งออกจะมีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 15,000-16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีแรกมีทิศทางที่สดใสจากการขยายตัวที่สูงกว่าร้อยละ 30 ต่อปี โดยสินค้าหลักที่ส่งออกได้ดี คือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงไทยได้ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียนและจีนมากขึ้น สำหรับแนวโน้มในครึ่งปีหลัง สศค. คาดว่าการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มชะลอลงจากฐานการคำนวณที่สูงในปีก่อน อย่างไรก็ตาม สศค. ได้ปรับประมาณการการส่งออกของไทยในปี 53 (ณ มิ.ย. 53) มาเป็นขยายตัวร้อยละ 22.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 21.5 — 23.5 ต่อปี) จากประมาณการเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 18.0 ต่อปี ทั้งนี้ การส่งออกของไทยยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป ปัญหาฟองสบู่ในประเทศจีน และความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจในสหรัฐฯ
2. ภาวะโลกร้อนฉุดผลผลิตข้าวลดลงร้อยละ 10
- สำนักงานผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ปริมาณน้ำลดลง และส่งผลให้การผลิตสินค้าเกษตรและอาหารในโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยคาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณผลผลิตข้าวโลกจะลดลงร้อยละ 10 และจะเกิดปัญหาขาดแคลนข้าวตามมา ปัจจุบันแม้ราคาข้าวในประเทศจะตกต่ำ แต่ความต้องการของตลาดโลกยังมีอยู่มาก โดยแต่ละประเทศได้เร่งระบายสต็อกข้าว โดยเฉพาะอินเดียที่สต็อกข้าวลดลงมาก ดังนั้น คาดว่าปลายปี 2553 ทุกประเทศจะเร่งสะสมสต็อกข้าวทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอีก และทีทีอาร์จะหารือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมทำยุทธศาสตร์ข้าวใหม่และศึกษาแนวโน้มตลาดข้าว
- สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะโลกร้อนส่งให้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบของสินค้าเกษตรแปรรูป รวมถึงเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ลดลงและขาดแคลนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลต่อเนื่องทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ทั้งนี้ ผลผลิตการเกษตรในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี โดยสินค้าเกษตรที่ขยายตัวได้ดี คือ ยางพารา ขณะที่ราคาผลผลิตทางการเกษตรช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.2 ต่อปี ซึ่งทำให้ส่งผลดีต่อรายได้เกษตรกรในช่วง 5 เดือนแรกปี 53 ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 21.2 ต่อปี
3. การจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐเดือน มิ.ย. 53 ลดลง 1.25 แสนตำแหน่ง
- กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payrolls) ในเดือน มิ.ย. 53 ปรับตัวลดลง 1.25 แสนตำแหน่ง เป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน และแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.1 แสนตำแหน่ง โดยสาเหตุหลักมาจากการเลิกจ้างพนักงานชั่วคราวเพื่อการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ประจำปี 2553 จำนวน 2.25 แสนตำแหน่ง ขณะที่การจ้างงานภาคเอกชนเพิ่มขึ้น 8.3 หมื่นตำแหน่ง ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน มิ.ย. 53 อยู่ที่ร้อยละ 9.5
- สศค. วิเคราะห์ว่า การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน มิ.ย. ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ เดือน มิ.ย. 53 ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน นอกจากนี้ อัตรการว่างงานของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยครึ่งแรกของปี 53 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 9.7 ซึ่งสูงกว่าทั้งปี 52 ที่ร้อยละ 9.3 ซึ่งสะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าในไตรมาส 1 ปี 53 GDP สหรัฐฯ จะฟื้นตัวกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี จากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ต่อปี ในไตรมาส 4ปี 52 ทั้งนี้ สศค. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ทั้งปี 53 ไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ มิ.ย. 53)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th