Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 กรกฎาคม 2553
Summary:
1. ธปท.ชี้แนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจ
2. สหรัฐฯ ต่ออายุจีเอสพีเครื่องประดับเงินไทย
3. ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโร 16 ประเทศในเดือนพ.ค. 53 ปรับตัวดีขึ้น
Highlight:
1. ธปท.ชี้แนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้-ฝาก มีแนวโน้มลดลงตามทิศทางเศรษฐกิจ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การดูแลส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก (สเปรด) เป็นเรื่องที่ธปท.ให้ความสนใจ และมีระบบติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยจ่ายสุทธิและรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ (NIM) ของทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ ล่าสุดในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ 2.78% ซึ่งคาดว่าจะสามารถปรับลดลงได้ตามทิศทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ก่อนจะให้ต้นทุนและส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง ควรต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน และมีแนวทางการลดภาระต้นทุนของระบบธนาคารพาณิชย์ เช่น ลดหนี้เสีย ลดขั้นตอนการปฏิบัติที่ซ้ำซ้อน เป็นต้น
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากที่ลดลง เป็นไปตามทิศทางเศรษฐกิจที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่มีสัญญาณฟื้นตัว ตามปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และทำให้เกิดการแข่งขันของสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น โดยล่าสุดอัตราการขยายตัวของเงินฝากและสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เดือนพ.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเท่ากันที่ร้อยละ 2.2 (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งดีขึ้นกว่าเดือนเม.ย. 53 ที่หดตัวร้อยละ -0.3 และ -0.5 ตามลำดับ
2. สหรัฐฯ ต่ออายุจีเอสพีเครื่องประดับเงินไทย
- นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับเปิดเผยว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ตัดสินใจคงสภาพสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้แก่สินค้าเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินของไทย ซึ่งจะมีผลทันทีเป็นระยะเวลา 1 ปี และจะสิ้นสุด ณ 30 มิ.ย. 54 จากที่สมาคมฯ วิตกว่าจะถูกตัด GSP เพราะได้รับสิทธิพิเศษมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี โดยการต่อสิทธิพิเศษดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้เข้าชี้แจงต่อวุฒิสมาชิกสหรัฐฯและผู้เกี่ยวข้องว่าการตัดสิทธิจะทำให้แรงงานไทยตกงานเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ซึ่งย่ำแย่ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกต่ำ นอกจากนี้ เครื่องประดับเงินของไทยไม่แข่งขันกับเครื่องประดับเงินที่ทำในสหรัฐฯ อีกด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า ในปี 52 ที่ผ่านมา ประเทศไทยส่งออกเครื่องประดับเงินคิดเป็นมูลค่า 956 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่าสามหมื่นล้านบาท โดยในแง่มิติคู่ค้า ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯเป็นอันดับ 1 ที่มูลค่า 396 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราวร้อยละ 42 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับเงินรวม ดังนั้น การต่ออายุสิทธิพิเศษดังกล่าวจึงส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย โดยอาจทำให้ไทยส่งออกสินค้าหมวดอัญมณีได้เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า และทำให้ได้ส่วนแบ่งในตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน 3 ประเทศที่ส่งออกเครื่องประดับเงินมากที่สุด ได้แก่ อิตาลี จีน และไทย
3. ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโร 16 ประเทศในเดือนพ.ค. 53 ปรับตัวดีขึ้น
- สำนักงานสถิติของสหภาพยุโรป รายงานตัวเลขยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยุโรป 16 ประเทศในเดือนพ.ค. 53 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ต่อเดือน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -0.9 ต่อเดือน ซึ่งสะท้อนได้จากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเริ่มกลับเข้ามามากขึ้นหลังจากที่อัตราการว่างงานในเดือนพ.ค. 53 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือน ขณะที่ประธาน บ. Hermes International SCA เปิดเผยว่า ภาคบริการในเดือนมิ.ย. 53 ของกลุ่มประเทศยูโรยังคงมีการขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกของกลุ่มประเทศยูโรโซนเริ่มปรับตัวดีขึ้นในเดือนพ.ค. 53 นี้ สอดคล้องกับดัชนีคำสั่งซื้อนอกภาคอุตสาหกรรม (Markit Non-Mfg PMI) ในเดือนพ.ค. 53 ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นที่ระดับ 56.2 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 55.5 ประกอบกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิ.ย. 53 เริ่มดีขึ้นเช่นกัน โดยหดตัวลดลงที่ร้อยละ — 17.3 ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยูโรโซน และอาจส่งผลให้อัตราการว่างงานในเดือนมิ.ย. 53 อยู่ต่ำกว่าร้อยละ 10.1 จากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม สศค. คาดว่า เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนในปี 53 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ประมาณการ ณ มิ.ย. 53)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th