Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 กรกฎาคม 2553
1. รัฐบาลย้ำชัดภาวะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง
2. ธปท.ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจ
3. ธปท.ชี้คงพ.ร..ก.ฉุกเฉินกระทบท่องเที่ยวจำกัด Highlight: 1. รัฐบาลย้ำชัดภาวะเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง
- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงาน "The 4th Euromoney Thailand Investment Forum" เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังคงสามารถขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้รัฐบาลยังมีโครงการลงทุนระยะกลางมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาทตามโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 และการอนุมัติแรงจูงใจทางภาษีให้กับบรรษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาจัดตั้งศูนย์การผลิตในไทย พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในแผนปฏิรูปประเทศ เช่น การเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นของประชาชน
- สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค.53 ยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 42.1 ต่อปี จากแรงส่งของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวได้ดี ซึ่งทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าในหมวดอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ได้ในระดับสูง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่วัดจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 18.1 ต่อปี แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณแผ่วลงเมื่อเทียบต่อเดือนร้อยละ -1.6 โดยเฉพาะสินค้าหมวดคงทนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมืองโดยปัจจัยดังกล่าวช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเมืองที่ส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หดตัวลงร้อยละ -12.9 ต่อปี เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดังนั้น สศค. จึงคาดว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2553 จะยังสามารถเติบโตได้ดีอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5 ต่อปี (คาดการณ์ ณ เดือน มิ.ย.53)
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปี 53 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1 วัน) อาจมีการปรับขึ้น โดยตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ปกติจะปรับขึ้นคราวละ 0.25-0.50% เพื่อให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจและระยะเวลาในการดำเนินนโยบายการเงิน ส่วนการที่รัฐบาลต่ออายุมาตรการช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนออกไปถึงสิ้นปี 53 นั้น ธปท.ประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อไม่มากนัก แต่การต่ออายุหรือหากจะมีการปรับให้เป็นมาตรการถาวรก็จะกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐบาล นอกจากนี้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรป เชื่อว่าการแก้ปัญหาร่วมกันน่าจะช่วยให้ธนาคารพาณิชย์ในยุโรปสามารถดำเนินอยู่ได้ และเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดวิกฤติรอบสอง รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐก็มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นเหล่านี้ต้องติดตามต่อไป
- สศค.วิเคราะห์ว่า แม้ว่าเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยล่าสุดบ่งชี้ถึงเศรษฐกิจไทยที่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง ในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกบวกกับปัจจัยเงินเฟ้อพื้นฐานที่เพิ่มขึ้นที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ทำให้ สศค. คาดการณ์ว่าในปี 53 อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (RP 1-day) จะปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.25 - 0.50 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.25 - 1.75 ต่อปี
- ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่าในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.53 ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากการประกาศพ.ร.ก.อยู่ในวงจำกัด ในเขตกทม.และปริมณฑล ขณะที่พื้นที่อื่นๆกระทบน้อย เพียงร้อยละ 11 ของปริมาณการท่องเที่ยวทั้งหมดในระยะสั้น แต่สำหรับในระยะยาวยังต้องติดตามดูต่อไป
- สศค. วิเคราะห์ว่า เหตุการณ์การชุมนุมได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวสะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพ.ค.5.3 หดตัวที่ร้อยละ -12.9 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวในด่านสุวรรณภูมิ (สัดส่วนร้อยละ 70 ของด่านทั้งหมด) ที่ร้อยละ -19.1 ต่อปี ขณะที่ชดเชยด้วยด่านภูเก็ตที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 60.1 ต่อปี ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุดในเดือนมิ.ย.53 พบว่ามีมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิ 615 แสนคน หดตัวลดลงร้อยละ -4.8 ต่อปี บ่งชี้ถึงสัญญาณการท่องเที่ยวต่างชาติที่เริ่มดีขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th