รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 8, 2010 16:12 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2553

Summary:

1. รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแผนปรองดองแห่งชาติ

2. สมาคมธนาคารไทยแนะ 3 แนวทางในการปฏิรูปการเงินเพื่อสังคม

3. การพิจารณาถอดถอนออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางจีน

Highlight:
1. รัฐบาลเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแผนปรองดองแห่งชาติ
  • นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศตามแผนปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการเมืองของประเทศหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง รัฐบาลได้มุ่งเน้นการเพื่อสร้างความสงบสุขและความมั่นคง รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่จะต้องดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เช่น การปฎิบัติตามกฎหมายและระเบียบมาตรฐานด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การเสียภาษีตามสภาพความเป็นจริงของธุรกิจ การพัฒนาแรงงานไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นโยบายปฏิรูปประเทศของรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประเทศไทย โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และสะท้อนได้จากโครงสร้างการกระจายรายได้ของประเทศไทยที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น โดยรายได้ของกลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้สูงสุดของสังคมไทย มีรายได้กว่าร้อยละ 55 ของรายได้รวม ในขณะที่กลุ่มประชากรร้อยละ 20 ที่มีรายได้ต่ำสุดของสังคมไทย มีรายได้เพียงร้อยละ 4-5 ของรายได้รวม ซึ่งทำให้มีช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้มากกว่า 12 เท่า ของทั้งสองกลุ่ม และทำให้ประเทศไทยมีค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini index) อยู่ที่ 0.5 ซึ่งสะท้อนถึงการกระจายรายได้ที่มีความเหลื่อมล้ำกัน ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงได้มีนโยบายต่างๆ เพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น (1) นโยบายประกันรายได้เกษตรกร (2) โครงการ 1 ล้านไร่มิติใหม่ที่ราชพัสดุ เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรในอัตราค่าเช่าที่เหมาะสม โดยได้ตั้งเป้าหมายในการดำเนินการประมาณ 100,000 ไร่ ในปี 53 (3) นโยบายแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบสถาบันการเงินของรัฐที่มีเงื่อนไขยุติธรรมมากกว่า (4) การจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (5) โครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นต้น
2. สมาคมธนาคารไทยแนะ 3 แนวทางในการปฏิรูปการเงินเพื่อสังคม
  • ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า แนวทางการปฏิรูประบบการเงินเพื่อสังคมต้องประกอบด้วยหลักใหญ่ 3 ประการ คือ 1) ต้องมีการบังคับใช้กฎเกณฑ์ การกำกับที่ดี และมีบทลงโทษที่ชัดเจน เพื่อป้องกันการใช้ข้อมูลภายใน ซึ่งส่งผลต่อตลาดทุน 2)พัฒนากลไกตลาดให้มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ การวงกรอบกฏหมายต้องไม่เป็นอุปสรรค และ 3)มีระบบจริยธรรมที่ดี นอกจากนี้ การกำกับติดตามจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากลไกตลาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่าผลจากการเปิดเสรีทางการเงิน และการปฏิรูปภาคการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 ทำให้ปัจจุบันตลาดการเงินของไทยมีความหลากหลายมากขึ้นการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น และต่างชาติเข้ามามีบทบาทในระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น สัดส่วนสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 32 ในปี 43 เป็นร้อยละ 49 ในปี 51 อย่างไรก็ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินของระยะที่ 2 ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในปี 53 — 57 มีความต่อเนื่องกับแผนระยะที่ 1 ซึ่งนโยบายสำคัญคือ การส่งเสริมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและมีการอนุญาตให้มีผู้บริการรายใหม่ในระบบสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นผลดีในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบธนาคารไทยและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการรายย่อยภาพสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึงมากขึ้น
3. การพิจารณาถอดถอนออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางจีน
  • สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่าธนาคารกลางจีนยังคงต้องดำเนินนโยบายพึ่งพาการใช้จ่ายภาครัฐและมาตรการทางการเงินแบบผ่อนคลาย ทั้งนี้ การถอดถอนออกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนนั้นจะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการปรับลดการใช้จ่ายภาครัฐถือเป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลจีนสามารถกระทำได้ ขณะที่การเพิ่มความเข้มงวดในส่วนของนโยบายทางการเงินจะสามารถดำเนินการได้ในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (โดย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 5.31) และสัดส่วนสำรองเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ (RRR) (โดย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 16.5) อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงขึ้น โดยในในไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ขยายตัวถึงร้อยละ 11.9 ต่อปี และทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวถึงร้อยละ 9.5 ต่อปี ทำให้ทางการจีนอาจใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ