Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 กรกฎาคม 2553
1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากความมั่นคงทางการเมืองที่มีมากขึ้น
2. ธปท. อนุญาตให้แบงก์พาณิชย์ ทำธุรกิจกองทุนรวมและการจัดการเงินร่วมลงทุน
3. เศรษฐกิจยุโรปอาจจะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยธนาคารที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นจากสภาพคล้องในระบบสถานบันการเงินในยุโรปที่เริ่มตรึงตัว
- นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน มาอยู่ที่ระดับ 69.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 67.6 โดยเป็นผลมาจากความมั่นคงทางการเมืองที่มีมากขึ้นผ่านการขับเคลื่อนแผนปรองดองแห่งชาติของรัฐบาล และการลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ซึ่งส่งผลต่อจิตวิทยาเชิงบวกต่อผู้บริโภค
- สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้นนั้น นอกเหนือไปจากปัจจัยภาวะทางการเมืองที่มีเริ่มคลี่คลายแล้วนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากรายได้ของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบ่งชี้ได้จากภาคการส่งออกที่กลับมาขยายตัวในเดือน พ.ค. 53 ที่ร้อยละ 3.4 (% mom) จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.2 (% mom) และรายได้เกษตรที่แท้จริงขยายตัวถึงร้อยละ 23.1 ต่อปี ตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
- ธนาคารแห่งประเทศไทยขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ให้สามารถประกอบธุรกิจกองทุนรวม และการจัดการเงินร่วมลงทุน เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถเสนอบริการแก่ลูกค้าได้ครบวงจรมากขึ้น ทั้งนี้การขยายขอบเขตการทำธุรกรรมดังกลาว จะอนุญาตให้กับธนาคารพาณิชย์ แต่ไม่รวมถึงธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย ซึ่งธนาคารพาณิชย์ ที่จะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจดังกล่าวได้ จะต้องมีระบบการบริหารความเสี่ยง และ การจัดการโดยรวมที่ดี
- สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายขอบเขตการประกอบธุรกรรมของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว น่าที่จะส่งผลดีต่อตลาดเงินและตลาดทุน โดยเป็นการเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้แก่ลูกค้าของธนาคาร รวมทั้งเป็นการเพิ่มช่องทางการหารายได้ให้กับธนาคารด้วย อย่างไรก็ตามการกระทำดังกล่าวควรระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการบริหารจัดการกองทุนรวม เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อธนาคารหรือผู้ฝากเงินได้ ทั้งนี้ เป็นข้อสังเกตว่า การขยายขอบเขตการประกอบธุรกรรมของธนาคารดังกล่าว เป็นไปในรูปแบบของ Universal Banking ซึ่งจากประสบการณ์ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผ่านมา หลาย ๆ ประเทศ นำโดยสหรัฐฯ ได้มีแนวโน้มที่จะแยกธุรกิจธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากกัน
- เศรษฐกิจยุโรปอาจจะเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากการที่อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ (Interbank rate) ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลจากสถาบันการเงินในยุโรปได้คืนเงินที่กู้ยืมจากธนาคารกลางยุโรปเป็นจำนวนเงินถึง 442 พันล้านยูโร (557 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในวันที่ 1 ก.ค. 53 ที่ผ่านมา
- สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นการสะท้อนถึงสภาวะสภาพคล้องในระบบสถานบันการเงินในยุโรปที่เริ่มตรึงตัว โดยล่าสุดอัตราดังกล่าวได้ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.802 จากวันที่ 1 ก.ค.53 ที่อยู่ระดับร้อยละ 0.782 หรือขยายตัวร้อยละ 2.6 ซึ่งการปรับตัวเพิ่มขึ้นดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจยุโรปโดยรวม เนื่องจากการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นของอัตรากู้ยืมระหว่างธนาคารพาณิชย์ อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งเป็นต้นทุนการกู้ยืมของภาคการลงทุนและภาคการบริโภคเอกชน อาจปรับตัวสูงขึ้น
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th