รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 13, 2010 11:13 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 13 กรกฎาคม 2553

Summary:

1. สภาพัฒน์ฯ คาด GDP ทั้งปี 53 โตร้อยละ 7

2. ก.พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกไปยุโรปเร่งปรับตัวรับกำลังซื้อที่ลดลง

3. รัฐบาลญี่ปุ่นพ่ายเลือกตั้งวุฒิหวั่นเป็นอุปสรรคนโยบายลดหนี้

Highlight:
1. สภาพัฒน์ฯ คาด GDP ทั้งปี 53 โตร้อยละ 7
  • รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้พิจารณารายงานการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงหกเดือนแรก โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวถึงร้อยละ 7 ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีในเดือนมิ.ย. 53 ถึงแม้จะรับผลกระทบจากการเมือง โดยเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะปกติก่อนสิ้นปี นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนประกอบไปด้วยการขยายตัวภาคเกษตรกรรม การจ้างงานที่ดี ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ทั้งนี้ ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีหลังและภาวะวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปไว้ครบถ้วนแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ร้อยละ 7 ต่อเมื่อมีการขยายตัวของสามไตรมาสหลังเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.3 ต่อปี โดยในไตรมาส 1 ปี 53 เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 12.0 ต่อปี ส่วนในไตรมาส 2 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวเป็นบวก เนื่องจากการส่งออก การบริโภค และการลงทุนยังเติบโตได้ แต่อาจชะลอลงเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบจากปัจจัยการเมือง สำหรับในครึ่งหลังของปีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอีก จากฐานการคำนวณในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ สศค. ได้ประเมินไว้เมื่อเดือนมิ.ย. 53 ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวได้ร้อยละ 5.5 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.0 — 6.0 ต่อปี

2. ก. พาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกไปยุโรปเร่งปรับตัวรับกำลังซื้อที่ลดลง

  • กระทรวงพาณิชย์ เตือนผู้ส่งออกไปยุโรปเร่งปรับตัวรับกำลังซื้อที่ลดลง และผู้ส่งออกจะต้องวางแผนการบริหารความเสี่ยงจากค่าเงิน ซึ่งค่าเงินที่น่าเป็นห่วงอยู่ในขณะนี้คือ ค่าเงินยูโร ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ลุกลามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บริษัทส่วนใหญ่มีการวางแผนลดความเสี่ยงโดยการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐซื้อขายสินค้าแทนเงินยูโร นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปได้เริ่มส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อเริ่มหดตัวลง รวมถึงมีการต่อรองราคาสินค้ามากขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องปรับ โดยหันมาส่งออกสินค้าระดับกลางแทนสินค้าระดับสูงมากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากตลาดอียูยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายปี 2553 การส่งออกสินค้าไปตลาดอียูจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 10
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาวะวิกฤติหนี้ในยุโรป ประกอบกับการที่ค่าเงินยูโรมีแนวโน้มอ่อนค่าลง อาจส่งผลให้การส่งออกไทยชะลอตัวลงบ้าง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดส่งออกใหม่ โดยมีการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีน ตลาดอาเซียนและตลาดออสเตรเลียมากขึ้น จึงช่วยลดผลกระทบจากความต้องการซื้อของผู้บริโภคในตลาดหลัก เช่น ตลาดอียูและสหรัฐฯที่ลดลง ทั้งนี้ ล่าสุดสถานการณ์เดือนพ.ค. 53 ยังขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 42.1 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 35.2 ต่อปี และหากปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
3. รัฐบาลญี่ปุ่นพ่ายเลือกตั้งวุฒิหวั่นเป็นอุปสรรคนโยบายลดหนี้
  • สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานผลการเลือกตั้งวุฒิสภาของญี่ปุ่นว่า พรรคเดโมเครติค ปาร์ตี้ ออฟ เจแปน (ดีพีเจ) ของนายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ครองที่นั่งในสภาสูงได้ 44 ที่นั่ง พ่ายแพ้พรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย (แอลดีพี) ที่ครองที่นั่งได้ 51 ที่นั่ง ส่วนพรรคยัวร์ ปาร์ตี้ ครองที่นั่งได้ 10 ที่นั่ง ทั้งนี้ การพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งวุฒิสภาของพรรค ดีพีเจ อาจเป็นผลมาจากการอภิปรายของนายนาโอโตะ คัง เรื่องนโยบายการขึ้นภาษีการค้าร้อยละ 5 เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะและประเด็นการย้ายฐานทัพสหรัฐจากเกาะโอกินาว่า อย่างไรก็ตาม นายคังยืนยันว่าจะไม่ลาออกจากตำแหน่ง หรือปรับคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ครองที่นั่งในวุฒิสภาน้อยกว่าพรรคฝ่ายค้านนั้น อาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเพื่อลดระดับหนี้สาธารณะของญี่ปุ่น เช่น การกำหนดเป้าหมายจัดทำงบประมาณสมดุลภายในอีก 10 ปีข้างหน้า การลดรายจ่ายของรัฐบาล และการเพิ่มอัตราภาษีเพื่อเพิ่มรายได้รัฐบาล ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นมีหนี้สาธารณะสูงถึงร้อยละ 180 ของจีดีพี นอกจากนี้ ยังอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อความสามารถของรัฐบาลญี่ปุ่นในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ