บทสรุปผู้บริหาร: บทวิเคราะห์เรื่อง การแข็งค่าของเงินหยวนและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 15, 2010 13:41 —กระทรวงการคลัง

บทสรุปผู้บริหาร
  • วันที่ 19 มิถุนายน 2553 ธนาคารกลางของจีนเปิดเผยว่าจะปรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น จากเดิมที่จีนบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวอยู่ในระดับคงที่ที่ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ มานานกว่า 2 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศว่าจะดำเนินนโยบายค่าเงินที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของจีน จะส่งผลต่อความผันผวนผ่านตลาดเงินในระยะสั้น และจะเป็นประโยชน์ต่อไทยในแง่การค้าและการท่องเที่ยวในระยะปานกลางโดย ในด้านการเงิน ค่าเงินบาทอาจปรับแข็งค่าขึ้นในระยะสั้นจากการเก็งกำไรในสินทรัพย์สกุลเงินบาทในฐานะสกุลเงิน Proxy Trading ของสกุลหยวน ในด้านการค้า เงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนและคู่ค้าของจีนได้มากขึ้น ในด้านการลงทุน ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงสุทธิจากจีนในไทยมีสัดส่วนที่น้อยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของ การลงทุนโดยตรงสุทธิทั้งหมด ในด้านการท่องเที่ยว จะได้รับอานิสงส์จากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้สัดส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทยในปี 2552
  • บทบาทของภาครัฐ ในระยะสั้น (1) ภาครัฐควรติดตามและดูแลความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด (2) ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม พร้อมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบธนาคารให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และในระยะปานกลางถึงยาว (1) ภาครัฐควรเร่งพัฒนาอุปสงค์ภาคในประเทศ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็ง เพื่อลดการพึ่งพาภาคการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (2) การกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ รวมทั้งขยายตลาดไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนในรายสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ และ (3) ไทยควรประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการสอดส่องดูแลความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย
1. บทนำ

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ธนาคารกลางของจีนเปิดเผยว่าจะเตรียมปรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น การประกาศดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากแรงกดดันจากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการให้จีนปรับค่าเงินหยวนให้แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่จีนบริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้เคลื่อนไหวอยู่ในระดับคงที่ที่ 6.83 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มานานกว่า 2 ปีบทความนี้จะได้วิเคราะห์ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ผลกระทบของการปรับค่าเงินดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2. นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เมื่อเดือน ก.ค. 2548 จีนได้ปฏิรูปอัตราแลกปลี่ยนของเงินหยวน จากอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (fixed exchange rate) ที่ให้ค่าเงินหยวนอิงกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงสกุลเดียว เป็นการกำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินหยวนลอยตัวแบบจัดการ (managed float) ด้วยการกำหนดให้ค่าเงินหยวนอ้างอิงกับเงินสกุลต่างๆ ในตะกร้า (currencies basket) เพื่อนำมาประเมินอัตรากลางของค่าเงินหยวน (mid-value) โดยธนาคารกลางจีนจะควบคุมให้ค่าเงินหยวนในตลาด สามารถจะแตกต่างจากค่ากลางที่กำหนดได้ ภายในกรอบการเคลื่อนไหว (trading band) ที่ธนาคารกลางจีนกำหนด ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค. 2548 ธนาคารกลางจีนได้ประกาศช่วงเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนไว้ที่ร้อยละ 0.3 กล่าวคือ ค่าเงินหยวนต้องไม่แข็งหรืออ่อนกว่าร้อยละ 0.3 จากค่ากลางที่ธนาคารกำหนดในแต่ละวัน และ หากในช่วงระหว่างวัน ค่าเงินหยวนที่ซื้อขายจริงมีการเคลื่อนไหวเกินกว่ากรอบดังกล่าว ธนาคารกลางจีนจะเข้ามาควบคุมดูแล พร้อมประกาศอัตรากลางใหม่สำหรับวันถัดไป ต่อมาในเดือน พ.ค. 2550 ธนาคารกลางจีนได้ขยาย trading band เป็นร้อยละ 0.5 และคงระดับดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งล่าสุด ทางการจีนได้เลือกที่จะบริหารค่าเงินหยวน ให้อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่สินค้าส่งออกของจีน ส่งผลให้จีนมีดุลการค้าเกินดุลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2551- 2552 ธนาคารกลางจีนประกาศปรับอัตรากลางของค่าเงินหยวนน้อยมาก โดยค่ากลางของเงินหยวนแข็งขึ้นเพียงร้อยละ 1.8 จากระดับเฉลี่ยที่ 6.9583 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551 เป็น 6.8312 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2552 ทำให้แม้เศรษฐกิจส่วนใหญ่ของโลกยังคงไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่จีนกลับเกินดุลการค้ากว่า 298.13 และ 195.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2551 และ 2552 ตามลำดับ

การเกินดุลการค้าของจีนส่งผลให้หลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งกำลังประสพปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้กดดันให้จีนทบทวนปฏิรูปค่าเงินหยวน จนทำให้จีนเริ่มส่งสัญญาณปฏิรูปค่าเงินหยวนอีกครั้ง โดยในวันที่ 19 มิ.ย. 53 ธนาคารกลางจีนประกาศส่งเสริมการปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวน โดยกล่าวว่า เป็นการปรับอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ2 ซึ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวในเกณฑ์ดีดังนั้น การปฏิรูปอัตราแลกเปลี่ยนที่อยู่บนพื้นฐานของอุปสงค์และอุปทานในตลาดจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนได้ย้ำว่าการปรับอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อลดผลกระทบในเชิงลบที่อาจมีต่อผู้ประกอบการ ทั้งนี้ พบว่านับตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 53 เป็นต้นมา ธนาคารกลางจีนได้ประกาศลดค่ากลางของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังคงกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวนที่ร้อยละ 0.5

3. ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ

ในส่วนนี้ สศค. จะวิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านช่องทางความเชื่อมโยงต่าง ๆ ได้แก่ 1) ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact) และ 2) ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact) โดยมีรายละเอียด ดังนี้

3.1 ผลกระทบผ่านช่องทางภาคการเงิน (Financial Impact)

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการเงินเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถเห็นได้จากผลกระทบจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายและค่าเงิน โดย สศค. วิเคราะห์ว่า การประกาศว่าจะดำเนินนโยบายค่าเงินที่ยืดหยุ่นมากขึ้นของจีน ได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุน ในภูมิภาคในทันที กล่าวคือ จากการที่ธนาคารกลางจีนได้มีการกำกับดูแลการซื้อขายเงินหยวนอย่างเคร่งครัด ทำให้นักลงทุนในตลาดเงินที่ต้องการลงทุนในค่าเงินหยวน หันมาซื้อขายเงินตราสกุลอื่น ๆ ที่ใกล้เคียง (Proxy Trading) ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมา ค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งค่าเงินบาท แข็งค่าขึ้นตามการคาดการณ์ของนักลงทุนว่าธนาคารจีนจะปรับค่าเงินหยวนแข็งขึ้น

3.2 ผลกระทบผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริง (Real Sector Impact)

ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางเศรษฐกิจจริงนั้นสามารถจำแนกได้เป็น 1) ผลกระทบด้านการค้า 2) ผลกระทบด้านการลงทุน และ 3) ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว โดยมีรายละเอียด ดังนี้

3.2.1 ผลกระทบด้านการค้า

สศค. วิเคราะห์ว่า ผลกระทบผ่านช่องทางการค้าระหว่างไทยและจีนจะส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าไปยังจีนได้มากขึ้น เนื่องจากความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของบาทต่อหยวนก็จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในปี 2552 การส่งออกของไทยไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วนที่ร้อยละ 10.0 ของการส่งออกของไทยโดยรวม(ภาพที่ 2) ดังนั้น หากค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเทียบกับค่าเงินหยวน ความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของบาทต่อหยวนก็จะปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย อันจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของประเทศไทยในระยะปานกลาง จากความได้เปรียบทางด้านอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งจะส่งผลให้ประเทศจีนมีกำลังการนำเข้าจากประเทศไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ ความได้เปรียบด้านราคาที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย เช่นสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสองอันดับแรกของจีนและเมื่อพิจารณาจากประเภทของสินค้า 10 อันดับแรกของไทยและจีนที่ส่งออกไปสู่ตลาดโลกในปี 2552 พบว่าไทยและจีนเป็นคู่แข่งทางการค้าของสินค้าประเภท เหล็ก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก

ตารางที่ 1: สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของจีนและไทยในปี 2552

อันดับที่             จีน                          ไทย
              ประเภทสินค้า                    ประเภทสินค้า
 1      เครื่องจักรกลและอุปกรณ์             เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
 2      เครื่องจักรไฟฟ้าและอุปกรณ์           รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ
 3      เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เครื่องจักร     อัญมณีและเครื่องประดับ
 4      สิ่งทอ                           แผงวงจรไฟฟ้า
 5      เหล็ก เหล็กกล้า                   น้ำมันสำเร็จรูป
 6      รถยนต์ เครื่องบินและเรือ            ข้าว
 7      เคมีภัณฑ์                         เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
 8      อุปกรณ์ดิจิตอล ถ่ายภาพ ภาพยนตร์      ผลิตภัณฑ์ยาง
 9      เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ยาง          เคมีภัณฑ์
 10     รองเท้า หมวก ร่ม และอื่นๆ          เม็ดพลาสติก
 ที่มา: กระทรวงพาณิชย์และ CEIC


          อย่างไรก็ตาม เมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นก็จะส่งผลทำให้มูลค่าสินค้าที่ไทยนำเข้าจากจีนมีมูลค่าสูงขึ้นด้วย เนื่องจากไทยนำเข้าสินค้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 10.7 ของการนำเข้าสินเข้าทั้งหมดของไทยในปี 2552 นอกจากนี้ หากค่าเงินในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นก็จะทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยจากภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ผลกระทบสุทธิเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นต่อดุลการค้าของไทย จึงจำเป็นต้องพิจาณาทั้งผลกระทบด้านราคาของสินค้านำเข้าและปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจากตารางที่ 2 พบว่าในช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 53 ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท


                            ตารางที่ 2: ดุลการค้าของไทย (เป็นเงินบาท)
                                                                                หน่วย: ล้านบาท
ปี/อัตราการขยายตัว           สหรัฐฯ          จีน       ยุโรป         ญี่ปุ่น      อาเซียน           อื่นๆ
 2551                   287,071    -138,024     292,808    -454,894    320,254    -1,450,538
   %yoy                   -14.7       156.3       -10.9        24.7       24.9          75.7
 2552                   279,146     -37,215     199,915    -323,955    258,228      -365,661
   %yoy                    -2.8       -73.0       -31.7       -28.8      -19.4         -74.8
  ม.ค.- พ.ค.2553         99,474     -30,359      91,565    -229,647    170,969      -286,842
   %yoy                    -0.7        95.6        16.7       174.8      140.2       47841.3
ที่มา: กรมศุลกากร และ CEIC


          3.2.2 ผลกระทบด้านการลงทุน
          สศค. วิเคราะห์ว่า การลงทุนจากจีนเพิ่มมากขึ้นเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบในเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากสัดส่วนการลงทุนโดยตรงสุทธิจากจีนในไทยมีสัดส่วนที่น้อยคิดเป็นเพียงร้อยละ 0.5 ของการลงทุนโดยตรงสุทธิทั้งหมดโดยในปี 2552 การลงทุนโดยตรงสุทธิจากจีนมายังไทยมีมูลค่า 69.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ตารางที่ 3)


    ตารางที่ 3: การลงทุนโดยตรงสุทธิในไทยจากจีน
                                        หน่วย: ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  ปี           จีน         อัตราการขยายตัว (%yoy)      สัดส่วน (%)
2551         17.2             -76.7                 0.2%
2552         29.2              69.6                 0.5%
Q1/2553      10.8             206.5                 0.7%
ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


          3.2.3 ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว
          สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการท่องเที่ยวไทยจะได้รับอานิสงค์จากค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเนื่องจากสัดส่วนนักท่องเที่ยวจากจีนคิดเป็นร้อยละ 5 ของจำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของไทยในปี 2552 (ภาพที่ 3) โดยในปี พ.ศ. 2552 ได้มีนักท่องเที่ยวจากจีนกว่า 7.8 แสนคนเข้ามาในไทย (ตารางที่ 4)


ตารางที่ 4: จำนวนนักท่องเที่ยว
               เอเชีย
            (ไม่รวมจีน)      จีน        ยุโรป       สหรัฐฯ     โอเชียนเนีย          อื่นๆ
2551       7,439,586    826,660    3,984,614   906,894     796,454      1,379,784
   %yoy          1.0       -8.9          2.1      -1.7         4.2            4.5
2552       7,069,641    777,467    4,057,392   853,276     737,282      1,336,102
   %yoy        -4.97       -6.0          1.8      -5.9        -7.4           -3.2
ม.ค.-พ.ค.
2553       3,085,061    422,359    2,085,231   379,912     306,093        575,374
   %yoy       12.85        42.6         18.3       6.7        13.4           17.8
ที่มา: สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และ CEIC


4. นัยเชิงนโยบายของประเทศไทย
          แม้ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน อาจทำให้ไทยได้รับประโยชน์ผ่านช่องทางด้านการค้า การท่องเที่ยง และการลงทุน อย่างไรก็ตาม นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีนดังกล่าว อาจทำให้เกิดความผันผวนในภาคการเงินในระยะสั้น ซึ่งภาครัฐควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกล่าวคือ

ในระยะสั้น
          (1) ภาครัฐควรติดตามและดูแลความผันผวนของค่าเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิดโดยอาจใช้กลไกการติดตามและรายงานผล ของคณะทำงาน Emergency Economic Resolution Committee ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย โดยมี สศค. เป็นเลขานุการคณะทำงานฯ
          (2) ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมพร้อมทั้งดูแลสภาพคล่องในระบบธนาคารให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ และ

ในระยะปานกลางถึงยาว
          (1) เพื่อลดการพึ่งพาภาคการส่งออก ภาครัฐควรเร่งพัฒนาอุปสงค์ภาคในประเทศ โดยเร่งเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็ง
          (2) สนับสนุนการใช้โอกาสในการได้ปรับด้านราคาจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยน ในการกระจายตลาดส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพ อาทิ เอเชียตะวันออก อินเดีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย เป็นต้น รวมทั้งขยายตลาดไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้าของจีนในรายสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ
          (3) ไทยควรประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคในการสอดส่องดูแลความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายผ่านศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์เศรษฐกิจของอาเซียน+3 (Regional Economic Surveillance Unit) และการจัดตั้งทุนสำรองระหว่างประเทศร่วมกันภายใต้ Chiang Mai Initiative Multilateralisation เพื่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 สามารถกู้ยืมทุนสำรองระหว่างประเทศเมื่อจำเป็นได้
          ทั้งนี้ นอกเหนือจากมาตรการในการติดตามและเฝ้าระวังของภาครัฐดังกล่าว ภาคเอกชนสามารถเตรียมความพร้อมด้วยตนเองได้ อาทิ การใช้เครื่องมือทางการเงินในการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการกระจายตลาดการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ นอกเหนือจากภูมิภาคยุโรป


          ที่มา:  Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
          Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ