รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 16, 2010 11:01 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 16 กรกฎาคม 2553

Summary:

1. ธนาคารกรุงไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

2. BOI เล็งนำนักธุรกิจไทยลงทุนที่ประเทศอินเดีย

3. GDP จีนไตรมาส 2 ปี 2553 (ตัวเลขเบื่องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี

Highlight:
1. ธนาคารกรุงไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
  • นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เป็นต้นไป ธนาคารกรุงไทยจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ตามการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมากกว่าด้านอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งอาจจะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของธนาคารแคบลง แต่จะช่วยดูแลลูกค้าสินเชื่อของธนาคารให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด โดยธนาคารจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภท ขึ้นในอัตรา 0.25%-0.35% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะปรับขึ้นเพียง 0.125% -0.150% ต่อปีเท่านั้น นอกจากนี้ ธนาคารจะออกเงินฝากประจำ 39 เดือน และตั๋วแลกเงินอายุ 39 เดือน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 3.00% ต่อปี และ 3.30% ต่อปี เพื่อเพิ่มทางเลือกแก่ผู้ฝากเงินอีกด้วย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารกรุงไทย สอดรับกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปรับขึ้น 25 basis point หรือร้อยละ 0.25 ต่อปี อย่างก็ตามเนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ล่าสุดเดือน พ.ค. 53 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 1.96 ล้านล้านบาท ทางสศค. จึงมองว่าการปรับเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ในระยะต่อไปจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
2. BOI เล็งนำนักธุรกิจไทยลงทุนที่ประเทศอินเดีย
  • บีโอไอแถลงว่าจะนำคณะนักธุรกิจไทยเดินทางไปศึกษาลู่ทางการลงทุน ณ เมืองเจนไน และมุมไบ ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 8-14 ส.ค.นี้ โดยกิจกรรมครั้งนี้บีโอไอจะร่วมมือกับหอการค้าและอุตสาหกรรมอินเดีย-อาเซียน-ศรีลังกา(India-ASEAN-Sri Lanka Chamber of Commerce and Industry:IASCCI) จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทย-อินเดียในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนร่วมกันเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อาหาร และกิจกรรมบริการ เป็นต้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่าประเทศอินเดียถือเป็นประเทศคู่ค้าหลักสำคัญอันดับที่ 11 ของไทย และการส่งออกไปยังประเทศอินเดีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.1 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ประเทศอินเดียยังถือเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูง โดย สศค. คาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 8.2 ต่อปี ดังนั้นการสนับสนุนการลงทุนระหว่างกันถือได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดของภาคการส่งออกไปยังอินเดีย เพื่อหันมาพึ่งพาการค้าในภูมิภาคมากขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นการกระจายความเสี่ยงจากกลุ่มประเทศ G3 ที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอลงของเศรษฐกิจ
3. GDP จีนไตรมาส 2 ปี 2553 (ตัวเลขเบื่องต้น) ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 10.3 ต่อปี
  • GDP จีนไตรมาส 2 ปี 2553 (ตัวเลขเบื่องต้น) ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อปี (% yoy) ขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี (% yoy) อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อและการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก อาทิเช่น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น โดยนักวิเคราะห์มองว่าทางการจีนอาจจะต้องลดมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์และเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในครึ่งหลังปี 2553 ที่เริ่มมีทิศทางชะลอลง
  • ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด จากตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (PMI) และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ที่ปรับตัวลดลงกว่าที่คาดการไว้ สะท้อนถึงการขยายตัวที่ชะลอลงในด้านอุปทาน ซี่งการแผ่วลงในภาคดังกล่าวนั้นได้ส่งผลต่อการนำเข้าที่ลดลงในเดือน มิ.ย. 53 ของสินค้าจำพวกวัตถุดิบและโภคภัณฑ์ เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางและเหล็ก เป็นต้น ทั้งนี้ จีนถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของไทย (โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในปี 53) โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกไปประเทศจีน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งอาจมีแนวโน้มแผ่วลงจากทิศทางการนำเข้าที่ชะลอลงของจีนในระยะต่อไปได้

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ