กรณีการขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความสั้น (SMS) ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 19, 2010 08:23 —กระทรวงการคลัง

สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลว่ากรณีการขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่งข้อความสั้น (SMS) เพื่อขอให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และร่วมมือกันนำพาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้า และมีความสมัครสมานสามัคคี ไปยังผู้ใช้โทรศัพท์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ว่าไม่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103 ที่ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด มูลค่าเกิน 3 พันบาท

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าตนน้อมรับกับการพิจารณาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่เห็นว่าการส่ง SMS นั้นเป็นการช่วยเหลือกับทางราชการ มิใช่เป็นการส่งในฐานะส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ และยังไม่มีการกำหนดเรื่องใช้จ่ายหรือค่าตอบแทนในการดำเนินการ เพราะไม่ใช่ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การขอให้บริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่ง SMSไปยังผู้ใช้โทรศัพท์เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2551 บริษัทที่ส่ง SMS ทั้งหมดจำนวน 3 บริษัทอันได้แก่ บริษัท เอไอเอส (AIS Advanced Info Service) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (True Move) ได้รับค่าตอบแทนในกรณีที่ประชาชนส่งข้อความสั้นกลับมา โดยค่าส่งข้อความสั้นคิดเป็นเงิน 3 บาทต่อการส่งข้อความหนึ่งครั้ง โดยข้อความที่นายกรัฐมนตรีส่งออกไปได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “…สนใจได้รับการติดต่อจากผมกรุณาส่งรหัสไปรษณีย์ 5 หลักของท่านมาที่เบอร์ 9191 (3บ)” การได้รับค่าตอบแทนจากการส่งข้อความสั้นและการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว เป็นการตัดสินใจบนเงื่อนไขการทำธุรกิจรวมไปถึงเจตนาในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาประเทศชาติ และเป็นการตัดสินใจโดยสมัครใจ โดยที่มีบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกหนึ่งบริษัทคือ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (ฮัทช์) ที่เลือกที่จะไม่เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง ๆ ที่มีหน่วยงานของรัฐบาลถือหุ้นใหญ่

การส่ง SMS ตอบกลับก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและเลือกที่จะสื่อสารกลับ มิได้เป็นการบังคับให้ทุกคนที่ได้รับต้องสื่อสารกลับแต่อย่างใด

ข้อความ SMS ที่นายกรัฐมนตรีส่งออกไปเมื่อได้รับข้อความที่ประชาชนส่งตอบ แสดงถึงเจตนารมณ์ของท่านที่ต้องการจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหาทางออก และนำพาประเทศชาติไปสู่ความสำเร็จ และมีความสมัครสมานสามัคคีกันในประเทศ โดยการกระทำดังกล่าวมิได้มุ่งที่จะหาประโยชน์เพื่อตนเองแต่อย่างใด อันที่จะสังเกตได้จากข้อความเสียง (voice page) ที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ส่งออกไปว่า “สวัสดีครับ ผม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผมขอขอบพระคุณที่ท่านตั้งใจช่วยกันนำบ้านเมืองของเราออกจากวิกฤต ผมทราบดีว่าวันนี้ท่านเดือดร้อนในเรื่องปากท้อง และเครียดกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม ผมมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ ที่จะทุ่มเทใช้ความรู้ความสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ให้พี่น้องคนไทยอย่างเสมอภาคด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต แต่งานของผมจะไม่ประสบความสำเร็จหากพวกเราทุกคนไม่สมัครสมานสามัคคีกัน ผมขอโอกาสให้ประเทศไทย และคนไทยทุกคนได้มีความก้าวหน้า มีความผาสุกเพื่ออนาคตที่ดีสำหรับลูกหลานคนไทย”

ทั้งนี้การที่ภาคเอกชนมีความประสงค์ที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลเพื่อนำพาประเทศออกจากวิกฤติเพื่อก้าวไปสู่ความสมัครสมานสามัคคีของคนในสังคม และประเทศนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และน่ายกย่อง เนื่องจากประชาชนทั่วทั้งประเทศต่างได้รับผลประโยชน์โดยทั่วกัน มิใช่เป็นเรื่องที่ควรวิจารณ์ หรือกล่าวหาว่าเป็นการกระทำผิดแต่อย่างใด

ขณะนี้ทางรัฐบาลมีความต้องการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านโทรคมนาคมมากยิ่งขึ้นโดยนำเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาปรับใช้รวมถึงโครงการพัฒนาระบบ 3G โดยที่จะสนับสนุนการแข่งขันแบบเสรี เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านสินค้า และราคาที่ดี และถูกที่สุด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาระบบการส่งข้อความสั้น (SMS) ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารระหว่างรัฐบาล และประชาชนระดับรากหญ้าครั้งใหญ่ โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกรที่ ปัจจุบันไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลได้

สำหรับประเด็นในเรื่องภาษีอากร กรณีภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกรณีที่มีผู้ใช้บริการส่ง SMS ตอบกลับมา การเสียภาษีดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณภาษีตามที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้สำหรับภาษีแต่ละประเภท ทั้งนี้ เป็นหน้าที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการนำส่งเงินภาษีและยื่นเสียภาษีอากรให้ครบถ้วนถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด มิได้มีความแตกต่างจากการเสียภาษีในการให้บริการส่ง SMS ในกรณีอื่น ๆ แต่อย่างใด และเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมสรรพากรในการเรียกเก็บ ประเมิน หรือรับชำระค่าภาษีอากรจากผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีอากร รวมทั้งตรวจสอบค่าภาษีที่อาจมีการชำระไม่ครบถ้วนถูกต้อง

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 89/2553 16 กรกฎาคม 53--


แท็ก ป.ป.ช.   ทศชาติ   SMS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ