รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 19, 2010 10:31 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 กรกฎาคม 2553

Summary:

1. 5 เดือนอาฟตาไทยได้ดุล 1.7 แสนล้านบาท

2. สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยธุรกิจโรงแรมและยอดค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง

3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นในเดือน ก.ค. 53 ร่วงลงสู่ระดับ 66.5 จุด

Highlight:
1. 5 เดือนอาฟตา ไทยได้ดุล 1.7 แสนล้านบาท
  • กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยไปอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง โดย 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.) ไทยส่งออกไปอาเซียนแล้ว 5.69 แสนล้านบาท นำเข้า 3.99 แสนล้านบาท รวมมูลค่าการค้า 9.68 แสนล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 1.69 แสนล้านบาท ทั้งนี้ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออก 4.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 68.68 ต่อปี โดยสินค้าเกษตรที่ส่งออกมาก ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าวโพด นอกจากนี้ ทางกรมได้มีการเดินสายไปยังจังหวัดต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกไปอาเซียนมากขึ้น ตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 การส่งออกไปยังอาเซียน (5) มีสัดส่วนร้อยละ 16.7 ของการส่งออกทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13.9 ในช่วงเวลาเดียวกัน ชี้ให้เห็นว่า อาเซียนเป็นตลาดส่งออกที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเป็นการการลดความเสี่ยงการส่งออกไปยังประเทศในแถบตะวันตกที่เศรษฐกิจยังคงมีความผันผวน สำหรับสินค้าหลักที่ส่งออกไปยังกลุ่มอาเซียน (5) ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และน้ำตาลทราย โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 53 ขยายตัวร้อยละ 97.5 และ 270.6 ต่อปี ตามลำดับ ทั้งนี้ ในส่วนของสินค้าเกษตรกลุ่มข้าว น้ำตาล ยางพารา มันสำปะหลัง ซึ่งอยู่ในกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวสูง ภาษีจะลดลงใกล้เคียงร้อยละ 0 ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยในอนาคต
2. สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยธุรกิจโรงแรมและยอดค้าปลีกขยายตัวต่อเนื่อง
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยผลสำรวจยอดขายธุรกิจขายปลีก สินค้าเพื่ออุปโภคบริโภค โรงแรมและภัตตาคาร การให้เช่าของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือน กิจกรรมนันทนาการ และการให้บริการส่วนบุคคล ในไตรมาสที่ 1 ปี 53 โดยภาพรวมขยายตัวร้อยละ 3.9 จากไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ร้อยละ 3.2 โดยธุรกิจโรงแรม รีสอร์ต และหอพักขยายตัวร้อยละ 22.9 ในขณะที่ยอดขายปลีกทั่วไป ห้างสรรพสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน ตามภาวะเศรษฐกิจโลก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2553 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการบริโภค ที่วัดจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ที่ยังขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 21.2 และร้อยละ 16.0 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่การบริโภคสินค้าในหมวดคงทน เช่น ปริมาณการจำหน่ายรถจักยานยนต์ และรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.9 และร้อยละ 59.6 ต่อปี ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนว่าการบริโภคที่แท้จริง รวมถึงกำลังซื้อของประชาชนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้ยังมีปัจจัยกดดันทางการเมืองอยู่บ้างก็ตาม
3. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นของสหรัฐฯ เดือนก.ค. 53 ร่วงลงสู่ระดับ 66.5 จุด
  • รอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคขั้นต้นของสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 53 ร่วงลงสู่ระดับ 66.5 จุด จากเดือนมิ.ย. 53 ที่อยู่ ณ ระดับ 76.0 จุด ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ที่ 74.5 จุด สะท้อนว่าได้จากตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคที่อ่อนแอลงจากรายงานยอดค้าปลีกเดือน มิ.ย. ที่หดตัวลงร้อยละ -0.5 ต่อเดือน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียงร้อยละ -0.2 ต่อเดือน และเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันสองเดือนซ้อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ร่วงลงมานั้นชี้ให้เห็นว่าชาวอเมริกันยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ชัดเจนนัก โดยสะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในเดือนมิ.ย. 53 ขยายตัวลดลงที่ร้อยละ 4.8 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวทีร้อยละ 6.9 ต่อปี ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนมิ.ย. 53 ที่เริ่มมีการปรับตัวลดลง 125 พันตำแหน่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 53 จะขยายตัวได้เพียงร้อยละ 2.5 ต่อปี (ประมาณการ ณ มิ.ย. 53) แต่ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าปีก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างแผ่วอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เนื่องจากเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยโดยมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 10.9 ของมูลค่าส่งออกรวม

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel 02-273-9020 Ext 3665: www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ